กรณีการล่อซื้อ “อธิบดี” แห่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำคัญ
สำคัญไม่เพียงเป็นการล่อซื้อโดยความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบทั้งจาก ป.ป.ช.และป.ป.ท.ที่ เกาะติดการทุจริตในวงราชการและการเมืองเท่านั้น
หากแต่ยังได้รับความร่วมมือจาก “ข้าราชการ”
หากไม่ได้ “ข้อมูล” จากเหล่าข้าราชการในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ป.ป.ช.และป.ป.ท.คงไม่เกิดความมั่นใจในระดับนั้น
ถามว่างานนี้จำกัดเพียง “อธิบดี” เท่านั้นหรือ
พลันที่เกิดกรณีล่อซื้อ “อธิบดี” สังคมเกิด นัยประหวัดไปยังการปล้น “ปลัดกระทรวง”
นั่นก็คือ การปล้นปลัดกระทรวงคนหนึ่งแห่งกระทรวงคมนาคม แล้วกลิ่นของการคอร์รัปชั่นก็โชยกรุ่นเนื่องจากมากด้วยเงื่อนงำ
เป็นปลัดกระทรวงจากยุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
จากนั้นก็เกิดการขุดคุ้ยและตรวจสอบอย่างอึกทึกครึกโครมกระทั่งกลายเป็นว่า “ปลัดกระทรวง” รายนั้นต้องข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมหาศาล
แต่ก็ตัดตอนเพียง “ปลัดกระทรวง” เท่านั้น
คําถามก็คือการทุจริตในหน่วยราชการเป็นเรื่องเฉพาะตัวอย่างนั้นหรือ
อาจเป็นเรื่องของ “อธิบดี” อาจเป็นเรื่องของ “ปลัดกระทรวง” แต่ก็ต้องถามว่าทั้งอธิบดีและปลัดกระทรวงปฏิบัติหน้าที่อย่างเอกเทศหรือไม่
ต้องขึ้นกับ “รัฐมนตรี” ต้องขึ้นกับ “นายกรัฐมนตรี”
ไม่ว่ากรณีของการล่อซื้อ “อธิบดี” ไม่ว่ากรณีการปล้น “ปลัดกระทรวง” อย่างมากด้วยเงื่อนงำจึงกลายเป็นคำถาม กลายเป็นความสงสัย
ไปยัง “รัฐบาล” ไปยัง “นายกรัฐมนตรี”
สายตาของสังคมจึงให้ความสนใจไปยังกรณีการล่อซื้อ “อธิบดี” อย่างเป็นพิเศษ
อยากรู้เป็นอย่างยิ่งว่าในที่สุดแล้วก็เป็นเรื่องระหว่างตัว “อธิบดี” กับผู้ใต้บังคับบัญชา ที่ต้องหาเงินมาส่งส่วยเพื่อการรักษาตำแหน่ง หรือแสวงหาตำแหน่งเท่านั้นหรือ
โดยที่ “นายกรัฐมนตรี” ไม่ต้องรับผิดชอบ