คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง
ละแวก การเมือง ของ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ยังอยู่กับ ประยุทธ์
การออกจากพรรคประชาธิปัตย์ของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ กำลังสร้างประเด็น
เป็นประเด็นว่าความขัดแย้งที่กลายเป็น “ปัจจัย” ให้ต้องลาออกเป็นประเด็นในเชิงอุดมการณ์ หรือ ว่าเป็นประเด็นจากสภาพที่ “ภูมิทัศน์” ในพรรคประชาธิปัตย์ได้เปลี่ยนไป
เปลี่ยนไปกระทั่ง นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ไม่อาจอยู่ได้
ขยายความง่ายๆ ก็คือ ภูมิทัศน์ทางการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ได้ต่างไปจากยุคของ นายชวน หลีกภัย ยุคของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
จึงทำให้ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ไม่อาจ “ทน” อยู่ได้
หากคำตอบของคำถามต่อการลาออกของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ดำเนินไปเช่นนี้
คำถามที่ตามมาอย่างฉับพลันทันใดก็คือ หากพรรคประชาธิปัตย์ยุค นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เปลี่ยนไปอย่างชนิดไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้
เหตุใด นายชวน หลีกภัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงยังอยู่
นั่นเพราะว่าความอดทนทางการเมืองของ นายชวน หลีกภัย และของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมากกว่าของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ กระนั้นหรือ
หรือว่าความอดทนก็เป็นอุดมการณ์หนึ่งทาง การเมือง
การลาออกของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ จึงนำไปสู่การทบทวนต่อขบวนการลาออกของคนอื่น
ไม่ว่าจะเป็นการออกของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ไม่ว่าจะเป็นการออกของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ไม่ว่าจะเป็นการออกของ นายกรณ์ จาติกวณิช
เหตุผลอาจมีความต่าง แต่ปรากฏการณ์คือ ลาออกเหมือนกัน
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ลาออกไปอยู่กับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แล้วตั้งพรรค นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ออกไปอยู่กับรัฐบาล นายกรณ์ จาติกวณิช จัดตั้ง พรรคกล้า
แต่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ออกไปเพื่อร่วมกับพรรคการเมืองอื่น
ลักษณะการออกของ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ก็เหมือนกับการออกของนักการเมืองคนอื่น
นั่นก็คือ มีความขัดแย้งบางปมบางปัญหากับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ถึงกับทะลุทะลวงไปอยู่กับพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาชาติ หากแต่วนเวียนอยู่กับพวกเดียวกัน
เป็นพวกที่ยังอยู่กลุ่มหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา