คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง
รายจ่าย การเมือง
จากรายรับ พลังประชารัฐ
และ ประชาธิปัตย์
การเลือกตั้ง “ซ่อม” ไม่ว่าจะเป็นชุมพร สงขลา และกทม.กำลังจะเป็น“บทเรียน”
เนื่องจากองค์ประกอบหนึ่ง เพราะว่าพื้นที่ชุมพร พื้นที่สงขลา เป็นพื้นที่เดิมของพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่พื้นที่กทม.เป็นพื้นที่เดิมของพรรคพลังประชารัฐ
พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ ล้วนอยู่ใน“รัฐบาล”
การส่งคนลงสมัครของพรรคพลังประชารัฐ ของพรรคประชาธิปัตย์ จึงตกอยู่ในฐานะเป็น “เป้า” ในการวิพากษ์โจมตีเพื่อชิงเอาคะแนนเสียง
คำถามก็คือ ทำไมจึงต้องมีการเลือกตั้ง “ซ่อม”
ความจำเป็นอันทำให้เกิดการเลือกตั้ง “ซ่อม” มาจากวิบากกรรมอันเป็นของ“รัฐบาล”
ประการแรก เพราะคนเหล่านั้นกลายเป็น “อดีต ส.ส.” จากผลการตรวจสอบและวินิจฉัยโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ต้องพ้นสภาพของ ส.ส.
เป็นไปตามความผิด เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
เพราะว่า นายถาวร เสนเนียม และ นายชุมพล จุลใส ร่วมในปฏิบัติการสกัดกั้นการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เพราะว่า นายสิระ เจนจาคะ ต้องโทษและติดคุก
น่าสนใจก็ตรงที่ท่านเหล่านี้ล้วนร่วมอยู่ใน “กปปส.”
นั่นคือ กปปส.ภายใต้การนำของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก่อนรัฐประหาร 2557
ภาพของ นายชุมพล จุลใส เป็นอย่างไร ภาพของ นายถาวร เสนเนียม เป็นอย่างไร ภาพของ นายสิระ เจนจาคะ เป็นอย่างไร
เด่นชัดอย่างยิ่งในความรับรู้ของสังคม
แม้ว่า 2 คนจะอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ แม้ว่า 1 คนจะอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ แต่ทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ ล้วนมีภารกิจเดียวกัน
คือยกมือและขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐจะส่งใคร ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะส่งใครลงสนามในการเลือกตั้ง
คนเหล่านั้นเมื่อเป็นตัวแทนของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อเป็นตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์ก็ย่อมจะต้องแบกรับเรื่องของรัฐบาลเข้าไปอย่างเต็มพิกัด
นี่ย่อมเป็น “รายจ่าย” ในห้วงแห่งการรณรงค์ “หาเสียง”