ถึงอย่างไร ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็ยังเป็น “ฝ่ายค้าน” ประเภท “มือใหม่” หัดขับ
แม้จะเคยยืนยันว่า เข้าสู่ยุทธจักรทางการเมืองตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน กระทั่งเข้าสู่โหมดพรรคเพื่อไทยก็ตาม
กระนั้น ล้วนอยู่ในบรรยากาศของ “รัฐบาล”
แม้จะเคยเป็น “ฝ่ายค้าน” บ้างในห้วงหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 แต่ก็อยู่ในระยะสั้นๆ
การปรับตัวเพื่อเป็น “ฝ่ายค้าน” จึงต้องอาศัย “เวลา”
การทะยานขึ้นสู่ “อำนาจ” ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็อยู่ในสถานการณ์พิเศษ
ในห้วงที่อยู่กับ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต ก็เป็นระยะเวลาในการทำงาน “เบื้องหลัง” เป็นหน่วยปฏิบัติการอย่างชนิด “ลับสุดยอด”
ล้วนเป็นงานตามแนวถนัดของบรรดา “เสธ.”
การทะยานเข้ามากุม “อำนาจ” กระทั่งดำรงตำแหน่งเป็น “รัฐมนตรี” ในช่วงสั้นๆ ยุคพรรคพลังประชารัฐก็เป็นตามเงื่อนไขพิเศษ
อัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เปิด “ช่องทาง” ให้
พลันที่มือจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ได้ยื่นเข้ามาก็เห็นได้จากกรณี “ลำปาง”
สถานการณ์การเลือกตั้ง “ซ่อม” ที่ลำปางสำหรับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หนักหนาสาหัสยิ่งกว่าทุกสถานการณ์หลังเดือนมีนาคม 2562
นั่นก็คือ ตัดขาดจาก “อำนาจรัฐ” ไปอย่างสิ้นเชิง
เมื่อถูกการประสานและร่วมมือระหว่างพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล หนุนช่วยพรรคเสรีรวมไทย โอกาสของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็หมดสิ้นลง
จำเป็นต้องรับกับความพ่ายแพ้อย่างไม่ยินยอม
การปรับตัวครั้งใหม่เพื่อเป็น “ฝ่ายค้าน” ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จึงต้องใช้เวลา
ใช้เวลาในการทบทวนว่า “แผล” ที่ได้รับมาจากที่ใด ใช้เวลาในการทำความเข้าใจกับกระบวนการของพรรคร่วมฝ่ายค้านว่าเป็นอย่างไร
เป็นการใช้เวลาปรับตัวก่อน “การเลือกตั้ง” ใหญ่