ปรากฏการณ์ #10สิงหาประชาธิปไตยไปต่อ คือปรากฏการณ์ในยุค “ดิจิทัล”
เนื่องจาก “พื้นที่” ในการยึดครองมิได้เป็นพื้นที่ของ “สื่อเก่า” อันดำรงความเป็นกระแสหลักมาจากยุคแห่ง “อะนาล็อก”
หากเป็นพื้นที่ “ใหม่” และชุมชน “ใหม่”
รูปธรรมแห่งการติดเทรนด์ของ “ทวิตเตอร์” คือภาพฟ้อง ดำเนินไปเช่นเดียวกับการปรากฏขึ้นของ #ฟ้ารักพ่อ เช่นเดียวกับการปรากฏขึ้นของ#มนุษย์แข็งแกร่ง
เริ่มจาก “โซเชี่ยล มีเดีย” แล้วรุกเข้าไปในทุก “พื้นที่”
ถามว่าปรากฏการณ์ #10สิงหาประชาธิปไตยไปต่อ สะท้อน “ความจริง” อะไรในสังคม
คำตอบ 1 สะท้อนบทบาทและความหมายของ “นิสิตนักศึกษา” อันถือว่าเป็น “คนรุ่นใหม่” ในสังคมว่ายังดำรงอยู่อย่างเป็นรูปธรรม
จากเดือนตุลาคม 2516 กระทั่งเดือนพฤษภาคม 2535
เพียงแต่ “ภาพ” ของพวกเขามิได้เข้าไปยึดครองพื้นที่ของหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์เหมือนในกาลอดีต หากแต่อยู่ใน “ออนไลน์”
ไม่ว่าเป็น “ภาพ” ไม่ว่าเป็น “การเคลื่อนไหว”
ความน่าสนใจอันแหลมคมยิ่งก็คือ คนรุ่นใหม่ต้องการ “ส่วนแบ่ง” ในทางความคิด
ข้อเรียกร้องของพวกเขาอันก่อรูปขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ไม่เพียงดำรงอยู่ในการเคลื่อนไหวบนท้องถนน หากแต่ต้องการเข้าไปในคูหา “เลือกตั้ง”
จึงได้มีการกดดันต่อแต่ละ “พรรคการเมือง”
จึงเด่นชัดอย่างยิ่งว่า เขาต้องการแปร “ความคิด” ของคนรุ่นใหม่ที่พวกเขายึดกุมให้เป็นโครงการในทาง “การเมือง” ที่มีการลงมือปฏิบัติอย่างเป็นจริง
นี่คือ “สัญญาณ” อันแหลมคมยิ่งต่อ “การเลือกตั้ง”
หากประเมินจาก #10สิงหาประชาธิปไตยไปต่อ ก็จะประจักษ์ใน “ความต้องการ”
เพียงแต่ว่าพรรคการเมืองซึ่งอยู่ในสนามแห่งการต่อสู้มีสำนึกและมีความตระหนักมากน้อยเพียงใดต่อข้อเสนอและการผลักดันของ “คนรุ่นใหม่”
วินาทีก่อนการเลือกตั้งจึงเป็นเครื่อง “ทดสอบ” อันแหลมคม