ชะตากรรมของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ก่อให้เกิด “คำถาม” ตามมาเป็นอย่างมาก
เนื่องจากบทบาทหนึ่งซึ่งโดดเด่นเป็นอย่างมากของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ คือ บทบาทในด้านเศรษฐกิจ จัดระดับเป็น “มือวาง” ในทางเศรษฐกิจ
ตกลงเป็น “นักเศรษฐศาสตร์” หรือ “นักการตลาด”
ความน่าสนใจอยู่ตรงที่เมื่อศึกษาภูมิหลังของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อย่างเข้มงวดและจริงจัง ก็ห่างไกลจากการเป็นนักเศรษฐศาสตร์อย่างยิ่ง
แท้จริงแล้วเขาเติบโตบนฐานแห่ง “นักกฎหมาย”
นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ จบนิติศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างชนิดสายตรง
เพียงแต่ตำแหน่งการงานซึ่งสร้างชื่อเสียงให้มิได้เป็นงานทางด้าน “กฎหมาย” ตรงกันข้าม กลับเป็นงานทางด้าน “การประชาสัมพันธ์”
เป็นงาน “การตลาด” ให้กับ “โตโยต้า”
ความสำเร็จของ “โตโยต้า” จึงนอกจากเป็นฝีมือการบริหารอันส่งตรงมาจากญี่ปุ่น หากแต่เมื่อมาถึงเมืองไทยก็เป็นฝีมือของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ด้วย
เป็นฝีมือ “การตลาด” มิใช่บริหารจัดการ “ธุรกิจ”
แม้ผันจาก “โตโยต้า” เข้าสู่การทำงานทางการเมืองในยุคไทยรักไทยก็เน้นการตลาด
ไม่ว่าจะเข้าร่วมส่วนในการโปรโมตงานใหญ่ในลักษณะ “คาร์นิวัล” ให้กับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เพื่อตีปี๊บในเรื่องการท่องเที่ยว
ที่สุดก็เข้าบริหาร “อสมท” อย่างประสบความสำเร็จ
นั่นแหละคือฐานให้เข้าสู่การร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชนผ่านตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
เริ่มต้นจาก “การตลาด” และลงเอยด้วย “การตลาด”
พลันที่ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐก็ถึงบทสรุป
เป้าหมายอาจอยู่ที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป้าหมายอาจอยู่ที่เป็นมือในทางเศรษฐกิจให้กับพรรคพลังประชารัฐ
แต่ก็ลงเอยด้วยภาพ “การตลาด” ไม่แปรเปลี่ยน