การดำรงอยู่ของ “คสช.” เป็นการดำรงอยู่ใน ลักษณะ “ตัวแทน” แห่ง “ระบอบ”
เมื่อเป็นการดำรงอยู่ในลักษณะอันเป็น “ตัวแทน” แห่ง “ระบอบ” จึงไม่สามารถมองเพียงตัวบุคคลอย่างเป็นการ “เฉพาะส่วน”
หากแต่ต้องมองเห็น “เครือข่าย” และ “สายสัมพันธ์”
ทำไมความสัมพันธ์ระหว่าง พี่น้อง “3 ป.” ทำอย่างไรก็ดำรงอยู่อย่างชนิด ตัดไม่ตาย ขายไม่ขาด ในที่สุด พวกเขาก็หวนกลับมาจับมือกันอีก
นั่นเพราะพวกเขาดำรงอยู่ภายใน “ระบอบ”
ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ ที่เห็นกันทั่วเมือง คือ ตัวอย่างจากกรณีของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์
มองอย่างปัจเจก เหมือนกับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ดำรงอยู่อย่างเป็น “นักกฎหมาย” มีความอิสระ มีความเป็นตัวของตัวเองอย่างเด่นชัด
แล้วเหตุใด “ทัศนะ” และ “บทสรุป” ของเขาจึงแปรเปลี่ยน
ตอนที่ให้ความเห็นต่อการนับอายุดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” เมื่อปี 2561 ก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่เมื่อถึงเดือนกันยายน 2565 ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง
นั่นเพราะ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นส่วนหนึ่งของ “ระบอบ”
การมองความสัมพันธ์ในเชิง “ระบอบ” ต้องมองอย่างต่อเนื่องและตามความเป็นจริง
ก่อนหน้านี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อาจทำงานใกล้ชิดกับ นายสมภพ โหตระกิตย์ และเริ่มเข้ามามีบทบาทเป็น “วงใน” ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2520
และในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยิ่งจำหลักหนักแน่น
จากสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มายังยุครสช.ของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร กระทั่งยุคคมช.ปี 2549 ยุคคสช.ปี 2557 เป็นอย่างไร
อย่าลืมเป็นอันขาดว่านี่คือสมาชิกแห่งคสช.อย่างมั่นคง
เมื่อมอง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ต้องมองอย่างเป็น คู่เคียงกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เด่นชัดยิ่งว่า เจตจำนงและเป้าหมายในทางการเมือง ของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวอย่างเหนียวแน่น
ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ไปต่อ”