คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง
ผลพวง การเมือง พลเมือง เพื่อ“ผู้ต้องขัง” เพื่อไทย ก้าวไกล
ถามว่าเหตุใด “กลุ่มพลเมืองเพื่อผู้ต้องขังทางการเมือง” จึงไปพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล
เริ่มจากพรรคเพื่อไทยพบและสนทนากับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค จากนั้นก็ไปพรรคก้าวไกลพบ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค
ทำไมไม่ไปพรรคพลังประชารัฐ ทำไมไม่ไปพรรคประชาธิปัตย์
อาจเพราะเห็นท่าทีของพรรคพลังประชารัฐ อาจเพราะเห็นท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ จึงมีความอุ่นใจกับการเข้าหาพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกลมากกว่า
จังหวะก้าวนี้ก่อให้เกิด “คุณูปการ” อันทรงความหมายในทางการเมือง
หากอ่านผ่านชื่อ “กลุ่มพลเมืองเพื่อผู้ต้องขังทางการเมือง” ก็มีความแจ่มชัดยิ่งในเป้าหมาย
ความหมายของกลุ่มดำรงอยู่ภายในกรอบของกฎหมาย ภายใต้หลักการแห่งสิทธิมนุษยชนซึ่งแอบอิงอยู่กับปฏิญญาของสหประชาชาติ และหลักรัฐธรรมนูญ
แกนนำ 1 คือ ทูตรัศม์ ชาลีจันทร์ 1 คือ นายสุนัย ผาสุก
คนแรกเคยเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำหลายประเทศ คนหลังเป็นที่ปรึกษาอย่างต่อเนื่องขององค์การฮิวแมน ไรต์ วอตช์ เป็น “มวยหลัก” อย่างเด่นชัด
เป็นมวยหลักที่อ่านพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกลแทงทะลุ
ผลพลอยได้เฉพาะหน้าจึงมิได้อยู่ที่ “ผู้ต้องขังทางการเมือง” อย่างไม่เป็นธรรมเท่านั้น
หากดูจากแถลงจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ก็เด่นชัดว่าพรรคก้าวไกลพร้อมขับเคลื่อนต่อไป ยิ่งฟังเสียง นายชัยธวัช ตุลาธน ยิ่งอบอุ่นมากด้วยความเห็นอกเห็นใจ
นี่คือผลสะเทือนและรูปธรรมจากการเคลื่อนไหว
ผลที่เห็นอยู่เบื้องหน้าไม่ว่าของด้อม ไม่ว่าของติ่งก็คือ ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลยังร้องเพลงเดียวกัน ยังแนบแน่นอยู่กับ “ผู้ต้องขังทางการเมือง” ไม่เสื่อมคลาย
ความหมายก็คือ เพื่อไทย ก้าวไกลยังเป็นพันธมิตรอยู่ในแนวร่วมเดียวกัน
มีความพยายามจะ “เสี้ยม” ให้พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล กลายเป็นศัตรู ห้ำหั่นกัน
โดยมองข้ามบทบาทและความหมายที่ทุกพรรคการเมืองต้องแข่งขันกัน โดยมองข้ามการแยกมิตรแบ่งศัตรูที่เห็นอยู่ข้างหน้าของพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล
นั่นก็คือ ระบอบเผด็จการซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ “ประชาธิปไตย”