ยิ่งภายในพรรคประชาธิปัตย์มีปัญหา สายตายิ่งมองไปยัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในการจัดวางบทบาทของ นายชวน หลีกภัย บทบาทของ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน บทบาทของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ในฐานะที่คนเหล่านี้เคยเป็น “หัวหน้าพรรค”
ยิ่งกว่านั้น ทั้ง นายชวน หลีกภัย ทั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ล้วนเคยเป็นหัวหน้าพรรคที่ดำรงตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี”
จึงยิ่งต้องรัดกุมอย่างเป็นพิเศษในการบริหารจัดการ
ที่ผ่านมา ต่อ นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน บทบาทก็จัดวางอย่างดี
เห็นได้จากการได้ตำแหน่ง “ประธานรัฐสภา” ของ นายชวน หลีกภัย เห็นได้จากการได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ลั่น “กลองสะบัดชัย” โปรโมตพรรค
ขณะที่ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ก็ไม่ถึงกับหายไป
คำถามจึงอยู่ที่การจัดวางบทบาทและสร้างความหมายให้กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เท่านั้นแหละที่ยังเป็น “ประเด็น” ถกเถียงในสังคม
นี่คือความอ่อนไหวละเอียดอ่อนยิ่งทางการเมือง
อ่อนไหวเพราะท่าทีระหว่าง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เป็นความอ่อนไหวเพราะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปฏิเสธ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทั่งลาออกจากสมาชิกภาพแห่ง ส.ส.
เพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์เดินหน้าต่อไป
มติพรรคประชาธิปัตย์ให้มีการขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายน 2562 นั่นแหละคือ “เส้นแบ่ง”
ทำให้ความสัมพันธ์ไม่ราบรื่นและแจ่มใส
ถามว่าจุดแข็งเป็นอย่างยิ่งของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คืออะไร
คือการยืนหยัดในความคิดและแนวทางที่ปฏิเสธการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยยังไม่ได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์
จึงกลายเป็น “ทางเลือก” หนึ่งสำหรับ “ประชาธิปัตย์”