ภาพจาก “บ้านป่ารอยต่อ” แต่ละภาพล้วนมี “บทบาท” และชี้ทิศทางในทางการเมือง
ไม่ว่าจะเป็นการปล่อย “จดหมาย” ในนาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมาอย่างเป็นระบบจนถึงฉบับที่ 6 ล่าสุด
ยืนยันเป้าหมายที่จะ “ก้าวข้าม ความขัดแย้ง”
เท่านั้นยังไม่เพียงพอยังมีการดึง นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เข้ามา ยังมีการเชิญ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เข้ามา
ทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อน “แนวโน้ม” ทางการเมือง
ยิ่งการเชิญ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ร่วมโต๊ะอาหาร ยิ่งมากด้วยความแหลมคม
โดยพื้นฐานเท่ากับเป็น “รูปธรรม” แห่งการร่วมมือกันระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคภูมิใจไทยซึ่งเคยร่วมรัฐบาลกันมา
แต่ที่มากด้วยความแหลมคม คือ บทสนทนา
เป็นบทสนทนาที่วางพื้นฐานในการจัดตั้งรัฐบาลว่าหากได้รับการเลือกตั้งเข้ามาแล้วแนวโน้มที่ตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” จะเป็นใครมีความแจ่มชัด
แจ่มชัดว่าอาจมิใช่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา
กระแสอันปรากฏอย่างเป็นระบบจึงเท่ากับตัด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกไป
เป็นการตัดบนพื้นฐานแห่งการผนึกตัวรวมพลังระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคภูมิใจไทย ก่อให้เกิด “แนวร่วม” อันหนักแน่นในทางการเมือง
เท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกโดดเดี่ยว
ขณะเดียวกัน การดึง พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เข้ามาทำให้ภาพแห่งคำสั่ง 66/2523 หวนกลับมาแสดงบทบาทอีกครั้ง
นั่นก็คือ การประสานไปยังพรรคเพื่อไทย โดยปริยาย
ถามว่าอะไรคือ “เป้าหมาย” อย่างแท้จริงจากโต๊ะอาหาร ณ บ้านป่ารอยต่อ
ทางหนึ่ง คือการแยกตัวออกมาจากพรรครวมไทย สร้างชาติ ทางหนึ่ง คือการส่งสัญญาณสร้างความเป็นพันธมิตรกับพรรคเพื่อไทยให้เป็นที่ประจักษ์
เท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกลอยแพ