การปรากฏของพรรคภูมิใจไทย ณ บ้านป่ารอยต่อ คือจังหวะหนึ่งในทางการเมือง
หลายคนนำไปเปรียบเทียบกับสถานการณ์เมื่อเดือนมิงหาคม 2565 เมื่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ไปนั่งอยู่ในห้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
เปิดการสนทนาธรรมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ในเมื่อนั่งสนทนาธรรมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เหตุใดจะไม่สามารถนั่งสนทนาธรรมกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เล่า
เป็นความเหมือน แต่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
สถานการณ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ต่างจากในเดือนมีนาคม 2566
ต่างกันตรงที่ในเดือนสิงหาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในห้วงเวลาแห่งการถูกพักหน้าที่ “นายกรัฐมนตรี” โดยศาลรัฐธรรมนูญ
จำเป็นต้องแสดงน้ำใจไมตรีไปเยี่ยมเยียน สนทนาธรรม
แต่สถานการณ์ในเดือนมีนาคม 2566 เป็นสถานการณ์ที่พรรคภูมิใจไทยและ นายอนุทิน ชาญวีรกูล อยู่ในฐานะ “ตั้งรับ” ในทางการเมือง
ถูกรุกอย่างต่อเนื่องจาก นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์
หากจับอารมณ์และความรู้สึกของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็จะเข้าใจในสภาพ
เพราะการปรากฏขึ้นของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ มากด้วยเงื่อนงำและมีความจำเป็นต้องสอบไปยัง “รากฐาน” และมือที่ผลักอยู่ข้างหลัง
พรรคภูมิใจไทยมอง “ทะลุ” เงาร่างไปยัง “ผู้ใด”
เด่นชัดอย่างยิ่งว่าไม่น่าจะเป็นมือจากพรรคเพื่อไทย เด่นชัดอย่างที่สุดว่าไม่น่าจะเป็นกระบวนท่าที่พรรคก้าวไกลมีความสันทัดจัดเจน
หากแต่น่าจะมาจาก “ภายใน” รัฐบาลด้วยกัน
การเข้าบ้านป่ารอยต่อของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล จึงเป็นการสร้างหลักประกัน
เป็นการส่งสัญญาณในทางการเมือง บอก “ใบ้” ว่าพอจะจับเส้นทางของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้มาจากขุมกำลังใดมากกว่า
เท่ากับเป็นการฟ้องต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ