‘วิษณุ’ แจงขั้นตอน หากยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยัน ไม่เกี่ยวประชุมเอเปก-ใกล้เลือกตั้ง ชี้ หากสถานการณ์วิกฤตซ้ำ กลับมาประกาศใช้ได้อีก
เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี ศบค.เตรียมพิจารณาไม่ขยายระยะเวลาบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. ในการประชุมครั้งหน้า ว่า อาจจะเป็นไปได้ แต่การประชุมศบค.วันนี้ไม่ได้มีการเสนอเข้ามา เพราะหากไม่ต่อการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินก็จะสิ้นสุดลง
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ส่วนศบค.จะอยู่หรือจะไปก็ได้ แต่โดยหลักก็ควรยกเลิก ตนบอกแล้วว่าการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินกับการมีหรือไม่มีศบค. ไม่ได้เกี่ยวกันร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะแม้จะยกเลิกเราก็ยังให้ศบค.อยู่ โดยอาจจะให้อยู่ตามอำนาจกฎหมายอีกฉบับ คือ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 11(8) แต่ลดบทบาทและอำนาจหน้าที่ของศบค.ลง และส่งมอบให้กระทรวงสาธารณสุขไปจัดการ โดยไม่ต้องไปยุ่งกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อีกก็ได้
เมื่อถามว่า สถานการณ์ของโควิด-19 มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายวิษณุ กล่าวว่า ตอบไม่ถูก ต้องถามกระทรวงสาธารณสุข และสมช.ที่เป็นผู้ประเมินสถานการณ์
เมื่อถามว่า ถ้าไม่ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะใช้กฎหมายใดมาควบคุมโรคโควิด-19 นายวิษณุ กล่าวว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ฉบับเดิม ซึ่งอำนาจส่งกลับคืนไปให้กระทรวงสาธารณสุข
เมื่อถามต่อว่า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยเห็นชอบแล้ว จะนำมาใช้ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ ยังไม่ได้ประกาศใช้ เพราะต้องรอให้คิดครอบคลุมกับโรคอุบัติใหม่ทุกชนิดก็เลยรั้งรอไว้ ไม่ได้เสนอเป็นพ.ร.บ.เข้าสภา และยังไม่ได้ออกเป็นพ.ร.ก.เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขได้อ่านสถานการณ์ได้ชัดเจน สรุปก็คือพักเอาไว้ แต่ถ้าประกาศใช้ก็จะไม่ต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
เมื่อถามว่า หากยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 จะดูแลโควิดครอบคลุมหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าโควิดไม่รุนแรงก็จะครอบคลุม แต่ถ้ารุนแรงก็จะไม่ครอบคลุม เพราะทุกกระทรวงจะปล่อยมือวางหมด เหลือแค่กระทรวงสาธารณสุขหน่วยงานเดียว ซึ่งเขาคงรับมือไม่ไหว
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ออกแบบมา สร้างศบค.ขึ้นมาเพื่อบูรณาการทุกกระทรวง แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถบูรณาการกับใครได้ ถ้าใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กระทรวงสาธารณสุขรับไปเต็มๆ ฉะนั้น ถ้าเกิดสถานการณ์วิกฤตเราก็ย้อนกลับไปประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินใหม่ได้อีก โดยให้ครม.ประกาศ และหากจะยกเลิกต้องเสนอศบค.ก่อน เพื่อให้คำแนะนำและจึงเข้าครม.ต่อไป
เมื่อถามว่า สาเหตุที่จะยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อเตรียมพร้อมในการเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก ใช่หรอไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เกี่ยว ถ้ามันระบาดอยู่และรุนแรงก็ต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ถ้าไม่รุนแรงก็ไม่ต้องใช้ ทั้ง 21 ประเทศที่มาร่วมประชุม ก็มีหลายประเทศที่ใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ญี่ปุ่น อีกทั้งการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ไม่เกี่ยวกับการเข้าโหมดเลือกตั้ง โดยเป็นเรื่องของโรคติดต่อโดยเฉพาะ เพราะเราเห็นแล้วว่า สถานการณ์โควิดเบาบางลงมา 2-3 เดือน เราถึงได้เปิดประเทศ