วิป 3 ฝ่าย เล็งงดเว้นข้อบังคับประชุม ลัดคิวถกร่างกฎหมายเลือกตั้ง หวั่นไม่ทัน 180 วัน เตือน ‘เพื่อไทย’ เตรียมร้อง ป.ป.ช. สอบสมาชิกรัฐสภา ระวังโดนร้องกลับ
เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 นายสมชาย แสวงการ ส.ว. และเลขานุการวิปวุฒิสภา เปิดเผยว่า วันนี้ (1ส.ค.) เวลา 14.30 น. คณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย คือ วุฒิสภา ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล จะหารือถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ… วาระสอง มาตราต่อเนื่องในที่ประชุมรัฐสภา
ตนเชื่อว่าการพิจารณามาตราที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ (กมธ.) แก้ไข ใน 2 ประเด็นให้สอดคล้องกับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ใช้จำนวน 500 คนหาค่าเฉลี่ย จะใช้เวลาค่อนข้างมาก คือ หนึ่งวัน หรือหนึ่งวันครึ่ง เพราะมีกมธ.เสียงข้างน้อยสงวนความเห็นไว้จำนวนมาก และสมาชิกรัฐสภาสามารถอภิปรายแสดงความเห็นได้
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดกรณีที่รัฐสภาอาจพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ไม่แล้วเสร็จ และเกินกรอบเวลา 180 วัน ในวันที่ 15 ส.ค. จึงอาจต้องขอเลื่อนระเบียบวาระให้ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ขึ้นมาพิจารณาก่อนเป็นอันดับแรก โดยพิจารณาก่อนร่างพ.ร.บ.ปรับเป็นพินัย ที่ค้างการพิจารณา หรือต้องเร่งให้ร่างพ.ร.บ.ปรับเป็นพินัย ให้เสร็จภายในวันที่ 2 ส.ค. โดยขณะนี้พบว่าร่างพ.ร.บ.ปรับเป็นพินัย มีการแก้ไขจำนวนมากและมีผู้ที่สงวนคำแปรญัตติมากเช่นกัน
นายสมชาย กล่าวต่อว่า ตนได้ตรวจสอบข้อบังคับการประชุมรัฐสภาแล้ว เห็นว่ามีช่องทางที่ทำได้ คือ กรณีแรก มีผู้เสนอของดเว้นการใช้ข้อบังคับ ให้เลื่อนระเบียบวาระแทนวาระที่ค้างพิจารณาโดยที่เรื่องไม่ตกไป หากที่ประชุมออกเสียงข้างมากให้ทำได้ จึงเลื่อนร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ขึ้นมาพิจารณาได้ภายในวันที่ขอเลื่อน หรือกรณีสอง คือขอเลื่อนวาระการประชุมตามปกติ โดยให้ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ต่อท้ายร่างพ.ร.บ.ปรับเป็นพินัย แต่ต้องขอความร่วมมือสมาชิกรัฐสภาให้เร่งรัดการพิจารณาเนื้อหาร่างพ.ร.บ.ปรับเป็นพินัย และการอภิปราย
“การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. อาจไม่แล้วเสร็จภายในวันเดียว นั่นหมายถึงต้องพิจารณาต่อในการประชุมรัฐสภา วันที่ 9-10 ส.ค.อีก หากทำได้เสร็จตามเวลาจะไม่มีปัญหา และส.ว.เห็นพ้องว่า อยากให้กระบวนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ เสร็จตามกระบวนการของสภาฯ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านเทคนิคที่จะทำเกิดความเสื่อมเสียต่อสภาฯ แม้ขณะนี้จะมีคนเห็นต่างเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าจะใช้ 100 หรือ 500 หาร แต่ขอให้กระบวนการเป็นไปตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ” นายสมชาย กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่สนับสนุนใช้สูตรหาร 500 ฐานจงใจฝ่าฝืนขัดรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง นายสมชาย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีสิทธิที่จะยื่นได้ แต่เชื่อว่า ป.ป.ช. คงไม่รับ เพราะการลงมติของสมาชิกรัฐสภานั้นเป็นเอกสิทธิ์ และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง ที่ส่อถึงการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์
“ขอให้มองมุมกลับด้วยว่า หากไม่เห็นด้วยกับสูตร 500 หาร แล้วไปยื่น แต่หากสูตร 100 หารชนะบ้าง เขาอาจไปยื่นให้องค์กรตรวจสอบด้วยก็ได้ เพราะไม่ว่าจะเป็น 100 หรือ 500 หาร ล้วนมีผู้ที่ได้และเสียประโยชน์” นายสมชาย กล่าว