นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องน่ายินดีของประเทศไทย หลังเฟซบุ๊ก โครงการ “การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย” ของ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้โพสต์คลิปนาทีประวัติศาสตร์ ลูกพญาแร้งฟักออกจากไข่ เป็นตัวแรกในรอบ 30 กว่าปี หลัง พญาแร้ง สูญพันธ์ไปแล้วในไทย โดยทางเพจระบุว่า
สำเร็จแล้ว!! “พญาแร้งฟักไข่ใบแรกกลางป่าห้วยขาแข้ง” ลูกพญาแร้งตัวแรกในถิ่นอาศัยเดิม หลังสูญพันธุ์ไปจากป่าธรรมชาติกว่า 30 ปี
สร้างความหวังสู่การฟื้นฟูประชากรแร้ง
หลังจาก “ป๊อก” พญาแร้งเพศผู้จากสวนสัตว์โคราช และ “มิ่ง” พญาแร้งเพศเมียจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้ใช้ชีวิตอยู่ในกรงฟื้นฟูฯ ร่วมกันราว 2 ปี
ทั้งสองได้เริ่มมีการผสมพันธุ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 และมีการผสมพันธุ์หลังจากนั้นอีกอย่างน้อย 3 ครั้ง
จนถึงวันนี้ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ภาพจากกล้องวงจรปิดได้จับภาพขณะ เจ้าลูกน้อยได้กะเทาะเปลือกไข่ออกมาลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรกแล้ว ณ หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
นับเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญของโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งฯ
“พญาแร้ง” เป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของผืนป่าไทยกว่าสามทศวรรษ จนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้มีโครงการฟื้นฟูพญาแร้งในถิ่นอาศัยเดิม
โดยทางเพจยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า
ตอนนี้เจ้าตัวเล็กมีนามขานว่า 51 (ยังไม่ได้มีการตั้งชื่อเป็นทางการนะคะ) 51 มีที่มาจาก รหัสเรียกหน่อยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สถานที่เกิดของลูกพญาแร้งตัวแรกในถิ่นอาศัยเดิม