วิธีไหว้ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร เอาฤกษ์เอาชัยเริ่มต้นปี 2567 และวิธีการเดินทางง่ายๆ

Home » วิธีไหว้ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร เอาฤกษ์เอาชัยเริ่มต้นปี 2567 และวิธีการเดินทางง่ายๆ
ไหว้ศาลหลักเมือง 2567-min (3)

ศาลหลักเมือง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของไทย ที่คนนิยมไปไหว้มากที่สุดในช่วงปีใหม่ 2567 เพื่อความสิริมงคล เปิดฤกษ์รับความโชคดี

เริ่มต้นปีใหม่ หลายๆคนพากันตะลุยไหว้พระ 9 วัด ทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล และอีก 1 สถานทีที่ไม่ควรพลาดนั่นก็คือ ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร สถานที่ศักดิ์สิทธ์ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองเรามาอย่างยาวนาน ในพื้นที่ต่างจังหวัดก็สามารถไปไหว้ขอพรศาลหลักเมืองประจำจังหวัดของตนเองได้เช่นกัน วันนี้ ไบรท์ทูเดย์ (Bright Today) จะพาทุกคนไป ไหว้ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ขั้นตอนการไหว้ สิ่งที่ต้องเตรียมไปถวาย และอัปเดต วิธีการเดินทางไปศาลหลักเมือง แบบง่ายๆโดยรถสาธารณะ ถ้าพร้อมแล้วเราไปดูกันเลย!

  • ดิถีเรียงหมอน ฤกษ์แต่งงาน ปี 2567 เริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยความสิริมงคล
  • โหราศาสตร์ไทย 101 : ดวงมาตรฐาน แต่ละดวงมีความหมายอย่างไร?
  • มูอย่างไรให้ตรงจุด! รวมสถานที่มูเตลู ตะลอนไหว้ขอพรรับปีใหม่ 2567

ศาลหลักเมือง คืออะไร?

ศาลหลักเมือง คือ บริเวณสถานที่สักการะซึ่งตั้งขึ้นเพื่อสักการะ โดยความสำคัญของเสาหลักเมืองนั้นมีความเชื่อมาตั้งแต่ครั้งอดีตในสมัยสุโขทัย โดยมีการจัดสร้างเสาหลักเมืองเพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นมิ่งขวัญ เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในเมือง 

การสร้างเสาหลักเมืองเชื่อว่าจะทำให้บ้านเมืองนั้นมีความร่มเย็นเป็นสุข เพราะว่าเสาหลักเมืองจะเป็นที่สถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งปกป้องคุ้มครองเมืองนั้นๆ ซึ่งการตั้งเสาหลักเมืองในประเทศไทยนั้นมีการตั้งเสาหลักเมืองทุกจังหวัด ทำให้มีศาลหลักเมืองทุกจังหวัดเช่นกัน

ศาลหลักเมืองของกรุงเทพมหานครนั้นตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ชั้นใน ใกล้เขตพระราชฐานในสมัยอดีต เนื่องจากมีความเชื่อว่าพื้นที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่มงคล และเป็นพื้นที่ใจกลางเมือง(ในสมัยนั้น) ซึ่งเมื่อมาถึงยุคปัจจุบันศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครตั้งอยู่ที่ถนนมหาไชย ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสนามหลวง ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 06.30 – 18.30 น.

ไหว้ศาลหลักเมือง-2567-min-2
ที่มา ขอบคุณรูปภาพจาก voravuds / Shutterstock.com

ประวัติความเป็นมาของ ศาลหลักเมือง

  • ศาลหลักเมือง สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๒๕ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธียกเสาหลักเมืองขึ้น เป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์มีไม้แก่นจันทน์ประกับนอก ยอดเสารูปบัวตูม เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๓๒๕ ณ ชัยภูมิใจกลางพระนครใหม่ที่พระราชทานนามว่า “กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา” หรือเรียกต่อกันมาว่า “กรุงเทพมหานคร” สถิตสถาพรเป็นมิ่งขวัญประชาชนชาวไทย จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเสาหลักเมืองต้นใหม่แทนต้นเดิมที่ชำรุดไปตามกาลเวลา เป็นเสาไม้สักเป็นแกนอยู่ภายในประกับด้วยไม้ชัยพฤกษ์ยอดเม็ดทรงมัณฑ์ และผูกดวงชาตาพระนครขึ้นใหม่ เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยทั้งหลาย ที่อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารประสบความเจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวรยิ่งขึ้น
  • ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๕ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนิน ณ ศาลหลักเมือง ในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี เพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหานครตามโบราณราชประเพณี และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการดำเนินการปรับปรุงศาลหลักเมืองให้มีความงดงามบริบูรณ์สมกับเป็นที่สถิตแห่งองค์พระหลักเมือง และให้เชิญเสาหลักเมืองต้นเดิมไปประดิษฐานไว้คู่กับเสาหลักเมืองต้นปัจจุบัน เมื่อบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จสมบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีสมโภชพระหลักเมือง ณ วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๒๙
  • ในการนี้ คณะกรรมการดำเนินการปรับปรุงศาลหลักเมือง ได้กราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์การดำเนินงานปรับปรุงศาลหลักเมือง
  • รวมทั้งได้สร้างศาลเทพารักษ์เพื่อเป็นที่สถิตแห่งเทพารักษ์ทั้ง ๕ ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลอง และอาคารหอพระพุทธรูปขึ้นอีกด้วย ศาลหลักเมืองมีพื้นที่อยู่ในอาณาบริเวณของกระทรวงกลาโหม โดยเริ่มแรกในปี 2480 กระทรวงกลาโหมได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงเป็นผู้ดูแล เมื่อกรมเชื้อเพลิงถูกยุบภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ กระทรวงกลาโหมจึงมอบให้ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เป็นผู้ดูแลตั้งแต่ปี ๒๔๙๑ โดยองค์การฯ ได้กำหนดให้สำนักงานกิจการศาลหลักเมือง ซึ่งเป็นหน่วยงานกิจการพิเศษขององค์การฯ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบศาลหลักเมือง รวมทั้งอาคารและบริเวณอันเป็นสถานที่สำคัญของชาติ การบูรณปฏิสังขรณ์ ดำเนินกิจการเพื่อให้บริการแก่ประชาชนผู้มาสักการะ และเก็บรักษาผลประโยชน์จากการนั้นสนับสนุนกิจการขององค์การฯ ตลอดจนร่วมสาธารณะกุศลอื่น ๆ มีผู้อำนวยการสำนักงานกิจการศาลหลักเมือง เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ และผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เป็นประธานกรรมการบริหารสำนักงานกิจการศาลหลักเมือง…

วิธีการไหว้ศาลหลักเมือง

การไหว้ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ นั้นสามารถไหว้ตามขั้นตอนให้ครบ หรือจะไหว้โดยไม่ครบขั้นตอนก็ได้ ขอเพียงแค่มีจิตใจที่เคารพ แต่ถ้ามีเวลา และต้องการทำให้ถูกต้องตามพิธีการไหว้ศาลหลักเมืองนั้นก็สามารถทำได้ ลองมาดูกันว่าขั้นตอนที่ถูกต้องในการไหว้ศาลหลักเมืองนั้นมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

สิ่งของที่ต้องเตรียม การไหว้ศาลหลักเมืองนั้นมีสิ่งของต่างๆ ที่ต้องเตรียมดังต่อไปนี้ ธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม ทองคำเปลว ดอกบัว 2 ดอก ผ้าแพร 3 สี / 5สี / 7 สี ตามแต่ความเหมาะสม พวงมาลัย 2 พวง

ไหว้ศาลหลักเมือง-2567-min-1
ที่มา ขอบคุณข้อมูลจาก https://bangkokcitypillarshrine.com/
  • จุดที่ 1 หอพระพุทธรูป
    ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ นั้นจะมีสถานที่สักการะอยู่ 5 ที่ โดยสถานที่ซึ่งต้องไหว้เป็นอันดับแรกคือหอพระพุทธรูป เพราะตามความเชื่อในการกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนไทยจะเริ่มด้วยการไหว้พระเป็นอันดับแรกเสมอ เมื่อไหว้พระในหอพระพุทธรูปเรียบร้อยแล้ว ยังสามารถใส่บาตรพระประจำวันเกิดซึ่งถือว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ เสริมดวงชะตาอีกด้วย
  • จุดที่ 2 องค์หลักเมืองจำลอง
    สถานที่สักการะแห่งที่สองที่ต้องไปไหว้คือองค์หลักเมืองจำลอง โดยให้จุดธูปเทียน กล่าวคำบูชาองค์พระหลักเมืองตามบทสวดดังต่อไปนี้
    “ศรีโรเม เทพเทวานัง พระหลักเมืองเทวานัง พระภูมิเทวานัง ทีปธูปจะบุปผัง สักการะวันทนัง สูปพยัญชนะ สัมปันนัง สารีนัง อุททะกัง วะรัง เตปิตุมเห อานุรักษ์ขันตุ อาโรขเยนะ สุเขนะจะ”
    เมื่อกล่าวคำบูชาเสร็จให้ทำการขอพร จากนั้นก็ปิดทอง และผูกผ้าแพรที่เสาหลักเมืองจำลองหลักใดหลักหนึ่ง
  • จุดที่ 3 องค์หลักเมืองจริง
    เมื่อไหว้องค์หลักเมืองจำลองเรียบร้อยแล้ว ก็ให้มาไหว้องค์หลักเมืองจริงต่อ โดยให้กล่าวคำบูชาองค์หลักเมืองด้วยบทเดียวกันกับที่กล่าวบูชาองค์หลักเมืองจำลอง เมื่อกล่าวจบแล้วให้ขอพร และถวายพวงมาลัยแก่องค์หลักเมือง
  • จุดที่ 4 ศาลเทพารักษ์ทั้ง 5
    หอเทพารักษ์ทั้ง 5 นั้นคือที่สถิตของเทพารักษ์ที่ปกป้องบ้านเมือง ซึ่งเทพารักษ์ที่สถิตอยู่ในหอนี้ประกอบด้วย พระเสื้อเมือง เทพารักษ์ผู้ปกป้องคุ้มครองทั้งผืนดินและผืนน้ำ พิทักษ์รักษาบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข แคล้วคลาดจากศัตรูผู้รุกราน
    พระทรงเมือง เทพารักษ์ผู้กำกับดูแลการปกครอง กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน
    พระกาฬไชยศรี เทพารักษ์ผู้ยับยั้งการทำชั่ว ขี่นกแสกคอยดูแลสอดส่องความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เป็นบริวารพระยม เมื่อผู้ใดถึงฆาตจะนำทางดวงวิญญาณไปให้พระยมชำระความ
    เจ้าเจตคุปต์ เทพรักษ์เพื่อจดบันทึกความชั่วร้ายของมนุษญ์ที่ตายไปเป็นบริวารพระยม เป็นผู้อ่านประวัติผู้จายเสนอพระยม
    เจ้าหอกลอง เทพารักษ์ผู้สอดส่องดูแลเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วแผ่นดิน คอยรักษาเวลาย่ำรุ่ง ย่ำค่ำ และเที่ยงคืน ปกป้องคุ้มกันเมื่อมีเหตุร้าย
  • จุดที่ 5 เติมน้ำมันตะเกียง
    การเติมน้ำมันตะเกียงนั้นถือว่าเป็นขั้นตอนการสุดท้ายในการไหว้ศาลหลักเมืองให้ครบทั้ง 5 ขั้นตอน โดยการเติมน้ำมันตะเกียงพระประจำวันเกิด ให้เติมเกินครึ่งขวดเนื่องจากมีความเชื่อว่าจะช่วยให้ชีวิตสว่างไสว มีความเจริญรุ่งเรือง ส่วนน้ำมันที่เหลือให้นำไปเติมในตะเกียงสะเดาะเคราะห์เพื่อให้สิ่งเลวร้ายออกไป เกิดแต่ความโชคดีในชีวิต
ไหว้ศาลหลักเมือง-2567-min
ที่มา ขอบคุณข้อมูลจาก https://bangkokcitypillarshrine.com/

การเดินทางไปศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร

วิธีการเดินทางไปศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครที่ง่ายและสะดวกที่สุด คือ รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ลงที่สถานีสนามไชย เลือกทางออกที่ 1 มิวเซียมสยาม เดินตรงไปยังพระบรมมหาราชวัง จากมิวเซียมสยามเดินไปยังศาลหลักเมืองระยะทางประมาณ 900 เมตร ก็จะถึงที่หมาย

รายละเอียดการเข้าชมศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร นักท่องเที่ยวสามารถเข้าสักการะศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.30-18.00 น. หรือโทรศัพท์ 0-2222-9876 ต่อ 116

ที่มา ขอบคุณข้อมูลจาก https://bangkokcitypillarshrine.com/

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ