เราเคยได้เห็นข่าวถึงความอันตรายของโซดาไฟกันมาเยอะ อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตก็มีมาแล้ว วันนี้ ไบรท์ทีวี (BrightTV) จะพาทุกคนมารู้จัก วิธีใช้โซดาไฟที่ถูกต้องและปลอดภัย ปฏิเสธไม่ได้เลยค่ะว่าถ้าหากห้องน้ำหรือท่อที่บ้านของเราตัน เราจะนึกถึงโซดาไฟเป็นอย่างแรก แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆแล้ว โซดาไฟ หรือโซเดียมไฮดรอกไซด์ เป็นสารเคมี ที่ใช้ประโยชน์ในกระบวนการผลิตได้หลากหลาย ทั้งการผลิตสบู่ ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ซักล้างต่าง ๆ ผลิตกระดาษ เส้นใยสิ่งทอ อลูมิเนียม แม้กระทั้งอุสาหกรรมอัญมณีก็สามารถใช้โซดาไฟได้เช่นกัน
- นครชัยแอร์ เปิดตัวรถทัวร์ First Class กทม. – นครพนม เริ่ม! 31 ส.ค. 67
- เปิดวิธี! เช็กประวัติอาชญากรรมออนไลน์ เพื่อยื่นสมัครงาน ง่าย ๆ 2 ขั้นตอน
- 4 พิกัด บริจาคลอตเตอรี่เก่า ไม่ถูกรางวัลอย่าพึ่งทิ้ง!
โซดาไฟ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
- โซดาไฟชนิดสารละลาย
- โซดาไฟชนิดแข็ง มาในรูปแบบเม็ด เกล็ด หรือผง สีขาว มีความเข้มข้นมากกว่าแบบสารละลาย
ซึ่งโซดาไฟมีฤทธิ์กัดกร่อนสูง หากสัมผัสผิวหนังอาจทำให้รู้สึกแสบร้อนและเกิดการไหม้รุนแรง นอกจากนี้ยังเป็นสารที่สามารถดูดความชื้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดความร้อนเมื่อถูกละลายด้วยน้ำ
ปัจจุบันผู้คนนิยมมาทำความสะอาด เช่น ขจัดคราบสกปรกและสิ่งอุดตันในท่อระบายน้ำ ขจัดคราบไขมันและเส้นผม ช่วยให้สะอาด ขจัดเชื้อโรค มีส่วนช่วยบำบัดน้ำเสียและปรับปรุงคุณภาพน้ำ แต่ถ้าใช้งานโดยไม่ระวังอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ค่ะ
วิธีการใช้งานโซดาไฟที่ถูกต้องและปลอดภัย
- ใส่อุปกรณ์ป้องกันขณะใช้งาน ห้ามสัมผัสโซดาไฟโดยตรงเด็ดขาด ใส่หน้ากากอนามัย แว่นตา ถุงมือยาง รองเท้ายางให้เรียบร้อย
- ก่อนใช้โซดาไฟแบบเกล็ด หรือเม็ด ควรเจือจางด้วยน้ำ โดยเทน้ำใส่ภาชนะที่เป็นพลาสติกหนา หรือเซรามิก เติมโซดาไฟทีละน้อยลงในน้ำ คนให้โซดาไฟละลาย ซึ่งวัสดุที่ใช้คนโซดาไฟกับน้ำ ควรเป็นประเภทเดียวกันกับภาชนะที่ใช้ ในขณะคนโซดาไฟจะทำปฏิกิริยากับน้ำจนอาจมีควันหรือความร้อนได้ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
- เมื่อละลายดีแล้ว จึงนำไปใช้ในบริเวณที่ต้องการ เช่น ท่อ ชักโครก รอให้โซดาไฟทำปฏิกิริยาเคมี แล้วจึงเทน้ำสะอาดตามลงไป เพื่อล้างโซดาไฟลงไป อีกทั้งยังช่วยให้โซดาไฟไม่แข็งตัวและเกาะแน่นตามท่อ ในขั้นตอนนี้ถึงแม้โซดาไฟจะเจือจางลงด้วยการผสมน้ำแล้ว อย่าชะล่าใจให้โซดาไฟสัมผัสร่างกายหรือผิวกายของผู้ใช้โดยตรง และอย่าสูดไอระเหยเข้าไปโดยปราศจากการป้องกัน
- เมื่อใช้งานโซดาไฟเสร็จสิ้น ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าที่เปื้อนสารเคมีออก ควรทำความสะอาดร่างกายทันที และควรล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร
เมื่อใช้งานเสร็จแล้วสิ่งที่ควรทำ คือจัดเก็บในภาชนะให้มิดชิด เช่น ใส่ในพลาสติกหรือแก้วที่มีความหนาพร้อมปิดฝาให้สนิท เก็บในที่แห้ง และมีอากาศถ่ายเท ควรเก็บให้ห่างจากเด็ก และสัตว์เลี้ยง
สิ่งที่ไม่ควรทำ
- อย่าวางโซดาไฟในที่ที่มีความชื้น อย่าวางใกล้วัตถุไวไฟหรือกรดต่างๆ
- อย่าเก็บโซดาไฟในที่ที่มีอุณหภูมิสูง หรือสูบบุหรี่ในบริเวณที่มีโซดาไฟ
การกำจัดหรือทิ้งโซดาไฟ
- ห้ามทิ้งลงบนดิน หรือแม่น้ำโดยเด็ดขาด
- อย่าทิ้งรวมกับขยะทั่วไป
- อย่าใส่โซดาไฟในภาชนะที่เป็นอลูมิเนียม สังกะสี ตะกั่ว ทองแดงหรือดีบุก เพราะอาจเกิดปฏิกิริยาจนติดไฟ ลุกไหม้ หรือระเบิดได้
- ควรใส่ถุงหรือถังพลาสติกแล้วปิดให้มิดชิดป้องกันการรั่วซึม มีการเขียนหรือติดป้ายว่าถุงนี้เป็นสารเคมีปนเปื้อน หรือทิ้งในถังหรือสถานที่สำหรับทิ้งสารเคมีโดยเฉพาะ
วิธีปฐมพยาบาล
- หากสูดดมโซดาไฟเข้าไป จะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ รู้สึกระคายเคือง และเกิดแผลในจมูกได้ ควรออกจากบริเวณนั้นไปยังที่ที่มีอากาศถ่ายเท และหายใจได้สะดวก
- หากผิวหนังสัมผัสโซดาไฟ จะรู้สึกแสบร้อน อาจเกิดผิวไหม้ แผลผุพอง ให้รีบผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า และทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำและสบู่ ใช้ยาทาแก้แผลไฟไหม้ หรือว่านหางจระเข้ทาบริเวณบาดแผล
- หากดวงตาสัมผัสโซดาไฟ ย่อมก่อให้เกิดความระคายเคือง ทำลายเนื้อเยื่อ อาจเป็นต้อหรือตาบอด ให้ถอดคอนแทนเลนส์ออกถ้ามี แล้วล้างตาด้วยน้ำสะอาดหลายๆครั้งอย่างระมัดระวัง
- หากเผลอทานโซดาไฟเข้าไป จะส่งผลต่อทางเดินอาหาร ดื่มน้ำเยอะๆให้ไปโรงพยาบาลทันที ห้ามทำให้อาเจียนเด็ดขาด
ซึ่งในปัจจุบันก็มีผลิตภัณฑ์ที่ออกมาเพื่อระบายท่อตัน กำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ที่มีความรุนแรงน้อยกว่าโซดาไฟเยอะเลยค่ะ เปลี่ยนได้ก็เปลี่ยนนะคะ แต่ถ้าบ้านไหนที่ใช้โซดาไฟอยู่ ก็อยากให้ใช้อย่างระมัดระวังด้วยนะคะ