วิธีเพิ่มฮอร์โมนสร้างสุข สร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดี

Home » วิธีเพิ่มฮอร์โมนสร้างสุข สร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดี

สุขภาพจิต ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสุขภาพกาย และบ่อยครั้งทีเดียวที่การเจ็บป่วยทางด้านสุขภาพจิตสามารถส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยของสุขภาพกายตามมาได้ ดังนั้น อย่าปล่อยให้ปัญหาสุขภาพจิตของคุณเป็นภัยคุกคาม หรือปล่อยให้อารมณ์เป็นใหญ่เหนือการควบคุม มิเช่นนั้น มันจะนำไปสู่ปัญหาบานปลายอื่น ๆ ได้ ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข มีความเครียดรุมเร้า มีความกังวลใจจนกระวนกระวาย คุณต้องรีบจัดการ ซึ่งหากคุณต้องการจะควบคุมตัวเองให้อยู่หมัด ก็ลองวิธีเหล่านี้ เพื่อที่จะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนที่จะสร้างความสุขได้อย่างง่ายดาย

ฮอร์โมนโดปามีน

เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความพึงพอใจ รักใคร่ และยินดี ที่หลั่งออกจากสมองกับเซลล์ประสาทในร่างกาย โดปามีนจะเกี่ยวเนื่องกับระบบประสาทหลาย ๆ ส่วน เช่น การทำงานของระบบประสาทสมอง การเคลื่อนไหว ความจำ และการเรียนรู้ เราสามารถสร้างฮอร์โมนโดปามีนได้ง่าย ๆ ด้วยการกินอาหารเพื่อสุขภาพ มีน้ำใจให้คนรอบข้าง หรือทำงานให้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้

ฮอร์โมนออกซิโทซิน

เป็นฮอร์โมน “สายสัมพันธ์” ที่ช่วยให้เราสร้างสายใยระหว่างเรากับคนรอบตัว ทำให้เกิดความรู้สึกดีจากการที่เราเชื่อใจคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นแม่กับลูกหรือความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก ซึ่งสามารถสร้างได้โดยเล่นกับสัตว์เลี้ยงตัวโปรด สวมกอดใครสักคน กล่าวชื่นชมคนอื่น กุมมือคนที่ห่วงใย มีน้ำใจให้คนรอบตัว หรือนวดผ่อนคลาย

ฮอร์โมนเซโรโทนิน

เป็นสารต้านความเครียดที่หลั่งจากสมองและหลั่งจากทางเดินอาหารที่มีผลกับการทำงานของกล้ามเนื้อ อารมณ์ พฤติกรรม และการนอนหลับ เราสามารถเพิ่มฮอร์โมนเซโรโทนินได้ง่าย ๆ เพียงแค่ ออกไปเดินเล่นกลางแจ้ง ออกกำลังกาย หรือหาเวลาออกไปโดนแดดบ้างก็เท่านั้น แดดช่วงเช้า ๆ กำลังดี

ฮอร์โมนเอ็นโดรฟิน

เป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากใต้สมองที่รู้จักกันในชื่อ “สารสุข” เปรียบเสมือนมอร์ฟีนธรรมชาติที่ร่างกายจะหลั่งออกมาก็ต่อเมื่อมนุษย์มีความสุข ความพึงพอใจ ผ่อนคลาย และหลั่งเพื่อกระตุ้นความรู้สึกในแง่บวก เมื่ออยู่ในภาวะเครียดฮอร์โมนชนิดนี้ก็จะลดลง ฮอร์โมนเอ็นโดรฟินจะเพิ่มขึ้นได้เมื่อเราฟังเรื่องตลกขำขัน ทำสิ่งที่ชอบหรือให้ความสนใจ ออกกำลังกายประมาณ 20 นาทีขึ้นไป เพื่อกระตุ้นการหลั่งของเอ็นโดรฟิน ทำสมาธิ เดินจงกรม ทำให้จิตใจสงบ หรือ การมีเพศสัมพันธ์ที่ถึงจุดสุดยอด

ที่มา : สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สสส.)

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ