สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ แนะตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ สามารถคัดกรองโรคมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายขาด
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งเต้านม เป็นโรคมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1 ในสตรีไทย โดยสถิติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพบว่า โรคมะเร็งเต้านม มีอุบัติการณ์เกิดโรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งในประเทศไทยปี 2554 พบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ 12,613 ราย หรือคิดเป็น 28.5 ต่อประชากร 100,000 คน ปัจจุบันยังมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้หญิงอายุน้อยตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ก็มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านมเช่นกัน ด้วยเหตุนี้สังคมต้องเริ่มตื่นตัวเพื่อรู้เท่าทันภัยเงียบนี้ เพราะหากตรวจพบเร็ว จะเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้มากขึ้น โดยผู้หญิงทุกช่วงอายุมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้ทุกคนจึงแนะนำให้หมั่นสังเกตความผิดปกติด้วยตนเอง และตรวจเต้านมเป็นประจำหรือเข้ารับการตรวจเมมโมแกรมเพิ่มเติมเมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป
วิธีตรวจเต้านม เพื่อหามะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจเต้านมด้วยตนเอง เริ่มต้นจากการดูเต้านมของตัวเองหน้ากระจก ประกอบด้วย 3 ท่าย่อย ได้แก่
- ท่าแรกยืนตรงแขนชิดลำตัว ดูเปรียบเทียบบริเวณเต้านมทั้ง 2 ข้าง ตั้งแต่ขนาด รูปร่าง รอยบุ๋ม รอยย่น สีและการบวมของผิวหนัง ลักษณะของหัวนมและลานนม หันตัวเล็กน้อยเพื่อสังเกตด้านข้างของเต้านมทั้งสองข้างด้วย
- ยกมือทั้ง 2 ข้างขึ้นเหนือศีรษะร่วมกับการขยับแขนขึ้นลง เพื่อสังเกตความผิดปกติเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสามารถสังเกตรอยบุ๋มของผิวหนังบริเวณเต้านมที่เกิดจากการดึงรั้งได้ชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากในรายที่เป็นมะเร็งอาจจะมีการดึงรั้งผิวหนังให้เกิดรอยบุ๋มได้
- เอามือท้าวสะเอวทั้ง 2 ข้าง กด และปล่อยมือเพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าอกเกร็งตัว และโน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อให้สังเกตรอยดึงรั้งของผิวหนังได้ง่ายขึ้น
ขั้นตอนต่อไปคือ การคลำที่เต้านม สามารถทำได้ทั้งในท่านั่งและท่านอน โดยใช้ด้านฝ่ามือของนิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนางบริเวณค่อนไปทางปลายนิ้ว การคลำเต้านมมี 3 แบบคือ
- คลำเป็นก้นหอยหรือตามเข็มนาฬิกา (Clock Pattern) เริ่มคลำจากส่วนบนหัวนม วนเลื่อนนิ้วมือตามเข็มนาฬิกา เป็นวงกลม ขยายวงออกไปเรื่อยๆจนถึงฐานเต้านมและบริเวณรักแร้
- คลำตามแนวนอนขึ้นลงขนานกับลำตัว (Vertical Strip ) เริ่มคลำจากส่วนล่างด้านนอกของเต้านมเป็นแนวยางถึงกระดูกไหปลาร้าโดยใช้นิ้วมือทั้ง 3 คลำในแนวขึ้นลง สลับกันไปมาให้ทั่วเต้านม
- คลำเป็นรัศมีรอบเต้านมหรือรูปลิ่ม (Wedge Pattern) เริ่มคลำจากส่วนบนเต้านมจนถึงฐาน และขยับนิ้วมือจากฐานถึงหัวนม เป็นรัศมีรอบเต้านมถึงกระดูกไหปลาร้า และบริเวณรักแร้และสุดท้ายคือการบีบบริเวณหัวนม และลานหัวนมเบาๆ เพื่อดูว่ามีน้ำผิดปกติออกมาหรือไม่
เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับ “มะเร็งเต้านม”
ผู้หญิงเราทุกคนล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงที่จะเป็น “โรคมะเร็งเต้านม” ซึ่งหากมันเกิดขึ้นแล้วก็คงไปแก้ไขอะไรได้ยาก แต่หากเรารู้ตัวเร็ว โอกาสในการรักษาก็ย่อมมีมากกว่า อาจหายจากอาการที่เป็นอยู่ได้ เริ่มต้นจากการตรวจเช็กร่างกายและสุขภาพของเราก่อน ดูว่าสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นใต้ผิวหนัง หรือในร่างกายหรือไม่ หมั่นตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำ แต่หากคลำเจอก้อน ก็ให้รีบเดินทางไปพบแพทย์โดยทันที แต่อย่าเพิ่งตกใจ เนื่องจากก้อนเนื้อที่จะพบได้ส่วนใหญ่ไม่ใช่เนื้องอก อย่าเพิ่งตีความกันไปเอง ให้ลองไปพบแพทย์เพื่อดูอาการอีกสักทีก่อน
ต่อมา เมื่อถึงวัยที่ต้องไปตรวจร่างกาย ตลอดจนเข้ารับการทำแมมโมแกรม หรือการตรวจเต้านมด้วยรังสี ที่จะมีข้อแนะนำในเรื่องของอายุและความถี่ในการตรวจที่มีอยู่หลากหลายมาก แต่ไม่อยากให้ยึดติดกับตัวเลขมากจนเกินไป ซึ่งถ้าเรามีอายุที่มากขึ้นก็ควรจะไปทำแมมโมแกรมเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกในเปอร์เซ็นต์ที่มากกว่าคนสาวๆ อีกทั้ง การตรวจแมมโมแกรมยังแม่นยำมากกว่าการตรวจด้วยตัวเองซะอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีเนื้อเต้านมเยอะ ยากมากที่ก้อนขนาด 1 เซนติเมตรจะหาเจอได้ แต่ด้วยความาสามารถของแมมโมแกรมที่สามารถตรวจหาก้อนเนื้อได้ในระดับมิลลิเมตร จึงไม่ยากที่จะหาโรคนี้ให้เจอ
หากตรวจเต้านมแล้วพบความผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียดต่อไป
- 7 วิธีลดความเสี่ยง “มะเร็งเต้านม”
- กินอย่างไร ช่วยลดความเสี่ยง “มะเร็งเต้านม”