ในสื่อสังคมออนไลน์หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมเดือนมกราคมถึงนานกว่าปกติ ทั้งที่ใน 1 ปีมีหลายเดือนที่มี 31 วัน แต่ไม่มีเดือนไหนให้ความรู้สึกเชื่องช้าเท่าเดือนแรกของปีเลย
แม้เวลาในความเป็นจริงจะดำเนินไปตามปกติ แต่เวลาสมองของเราอาจไม่เท่ากัน ทำให้รู้สึกได้ว่ามกราคมผ่านไปช้าเสียเหลือเกิน โดยเรื่องนี้ วิลเลียม สกายลาร์ก นักวิจัยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้อธิบายเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ว่า “เวลาทางจิตใจเป็นตัวชี้วัดที่ค่อนข้างบอบบาง สำหรับระยะเวลาทางกายภาพ”
ในทางวิทยาศาสตร์ ยากระตุ้น เช่น คาเฟอีน ถูกค้นพบขึ้นเพื่อทำให้คนรู้สึกว่าเวลากำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมรู้สึกว่าเวลาผ่านไปช้าลงหลังจากชมภาพยนตร์สยองขวัญ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “ความกลัว” สามารถทำให้คนรู้สึกว่าเวลาช้าลงได้จากการทดลองดังกล่าว เนื่องจากเป็นผลของความเร้าอารมณ์ต่อความเร็วของระบบนาฬิกาภายในสมองของเรา
สำหรับหนึ่งในปัจจัยสำคัญของนาฬิกาสมองคือ โดพามีน (Dopamine) สารสื่อประสาทที่จะหลั่งออกมาเวลาที่เกิดความรู้สึกสุข สบายใจ หรือตื่นเต้น ซึ่งสารเคมีในสมองตัวนี้จะทำให้นาฬิกาในสมองเดินเร็วขึ้น และในทางตรงกันข้าม หากไม่ได้รู้สึกสุข สบายใจ ตื่นเต้น หรือเบื่อ ก็ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกว่าเวลาเดินช้ากว่าความเป็นจริง
ด้านทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) อธิบายว่า มีความเป็นไปได้ที่การเริ่มต้นทำงานใหม่ หลังจากช่วงวันหยุดยาวทั้งเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ นำไปสู่ความรู้สึกเบื่อหน่าย เมื่อเทียบกับความสนุกสนานในช่วงเฉลิมฉลองก่อนหน้านั้น จึงทำให้หลายคนรู้สึกว่าเวลากำลังเดินช้าลงในเดือนมกราคม
นอกจากนี้ เดือนมกราคมเป็นเดือนเริ่มต้นปีที่มีอีก 11 เดือนรออยู่ รวมถึงการทำงานที่ยาวนาน เพราะเดือนมกราคมเป็นเดือนที่ไม่มีวันหยุดพิเศษเลยหลังจากปีใหม่ ทำให้รู้สึกเหนื่อย เบื่อ และไม่ได้มีความรู้สึกคาดหวังกับวันหยุดที่ไม่มีในเดือนนี้
สรุปคือ เวลาของเดือนมกราคมยังคงดำเนินต่อไปตามปกติ แต่เวลาสมองของใครหลายคนอาจจะเริ่มรู้สึกว่าเมื่อไหร่จะผ่านไปถึงเดือนกุมภาพันธ์เสียที จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ว่า “ทำไมเดือนมกราคมมันยาวนานเหลือเกิน?” นั่นเอง