วิตามินซี-ซิงค์ ป้องกันโควิด-19 ได้จริงหรือไม่?

Home » วิตามินซี-ซิงค์ ป้องกันโควิด-19 ได้จริงหรือไม่?
วิตามินซี-ซิงค์ ป้องกันโควิด-19 ได้จริงหรือไม่?

ในช่วงโควิด-19 ระบาด และหลายคนเริ่มตามหาวิตามินมากินเพื่อลดเสี่ยงติดโควิด-19 มีวิตามินที่ช่วยในเรื่องนี้ได้จริงหรือ

พญ.ม.ล.ธัญญ์นภัส เทวกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกัน และเวชศาสตร์ชะลอวัย รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ ระบุไว้ใน Podcast รพ.สมิติเวช ว่า ขณะนี้ ยังไม่มีรายงานวิจัยที่ยืนยันได้ 100% ว่าสามารถ “ป้องกัน” โควิด-19 ได้ เพียงแต่มีคุณสมบัติของวิตามิน และแร่ธาตุบางชนิดที่ช่วยฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มกันโรค และต้านการอักเสบของร่างกาย และเมื่อภูมิคุ้มกันโรคทำงานได้ดีแล้ว ความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสก็จะลดน้อยลง

อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มวิตามินที่ช่วยเรื่องของการฟื้นฟูการทำงานของระบบภูมิต้านทานโรคของร่างกาย ได้แก่

  • วิตามินซี
  • วิตามินดี
  • สังกะสี หรือซิงค์
  • สารแอนตี้ออกซิแดนท์ต่างๆ

วิตามินซี

วิตามินซี มีส่วนช่วยในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อทุกส่วนในร่างกายไม่ว่าจะเป็นเนื้อเยื่อ ของผิวหนัง เส้นเอ็น เส้นเลือด ซึ่งวิตามินซีนั้นจะช่วยให้อวัยวะเหล่านี้ไม่เปราะ ยืดหยุ่น และแข็งแรง และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เราไม่ป่วยหรือเป็นหวัดได้ง่ายๆ

สารต้านอนุมูลอิสระในวิตามินซีช่วยลดการอักเสบ ทำให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายกลับคืนสู่สภาพเดิมได้เร็ว ซึ่งช่วยให้ภูมิต้านทานโรคทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น และวิตามินซียังช่วยเร่งการทำงานของ “ฟาโกไซต์” (phagocytes) เซลล์ที่ช่วยกลืนกินแบคทีเรีย และสิ่งแปลกปลอมที่อาจเข้ามาทำร้ายร่างกายเราได้ด้วย จึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของภูมิคุ้มกันโรคนั่นเอง

ซิงค์ (สังกะสี)

ซิงค์ หรือ สังกะสี มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบภูมิคุ้มกัน เนื่องจากร่างกายของเราจำเป็นต้องใช้แร่สังกะสีในการทำงานของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า T-cells ซึ่งเป็นเซลล์ที่ช่วยในการควบคุมการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน และจัดการกับเซลล์ที่ติดเชื้อหรือเซลล์ผิดปกติ 

งานวิจัยหลายชิ้น ยังให้คำแนะนำว่า ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้สูงอายุ ควรบริโภคอาหารที่มีแร่สังกะสี เพื่อช่วยเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง และช่วยป้องกันจากโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรคปอดอักเสบ เป็นต้น

ในขณะเดียวกันหากร่างกายขาดแร่สังกะสี อาจส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น เช่น การติดเชื้อ ได้ในที่สุด

วิตามินซี-ซิงค์ ป้องกันโควิด-19 ได้จริงหรือไม่?

สำหรับไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ยังไม่มีรายงานวิจัยแน่ชัดว่าการบริโภควิตามินซีสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้โดยตรงมากน้อยแค่ไหน แต่สำหรับบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารโรคติดเชื้อของจีนของสมาคมแพทย์เซี่ยงไฮ้ ระบุว่า การเพิ่มปริมาณวิตามินซีให้กับผู้ป่วยโควิด-19 สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นได้ โดยวิตามินซีสามารถช่วยให้ปอดทำงานได้ดีขึ้น โดยเป็นการเพิ่มปริมาณมากกว่าที่ควรกินในแต่ละวันเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในเรื่องนี้ยังไม่เพียงพอต่อการพิสูจน์ได้ว่าวิตามินซีสามารถช่วยรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้จริง และวิตามินซีก็ยังไม่ใช่วิธีการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเป็นทางการจากแพทย์ทั่วโลก

ในส่วนของซิงค์ ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าซิงค์สามารถช่วยป้องกันโควิด-19 ได้เช่นกัน แต่เป็นการช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสต่างๆ มากกว่า

  • กิน “วิตามินซี” มากไป อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
  • “ซิงค์” (Zinc) หรือ “แร่สังกะสี” กับประโยชน์สุขภาพที่คุณควรรู้

ข้อควรระวังในการรับประทานวิตามินซี และซิงค์

หากกินเพื่อบำรุงร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอเป็นประจำทุกวัน หรือกินเพื่อหวังผลเรื่องผิวพรรณสวยงาม ควรรับประทานวิตามินซีไม่เกิน 1000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือหากเพื่อหวังผลป้องกันหวัด หรือภูมิแพ้ที่เป็นอยู่บ่อยๆ ไม่ควรกินเกิน 2000 มิลลิกรัมต่อวัน 

สำหรับซิงค์ ปริมาณความต้องการสังกะสีของแต่ละคนจะแตกต่างกันตามเพศ วัย โดยปกติแล้วไม่ควรรับประทานเกิน 40 มิลลิกรัมต่อวัน 

แต่ทั้งนี้สำหรับขนาดวิตามินซี และซิงค์ที่เหมาะสมในแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนกิน

วิตามินซี และซิงค์จากอาหาร

เราสามารถเลือกรับประทานอาหารที่มีวิตามินซี หรือซิงค์ ตามธรรมชาติได้ โดยไม่ต้องซื้อวิตามินเสริมมาดกินเพิ่ม

อาหารที่มีวิตามินซีสูง ได้แก่ ผักสีเขียวเข้มอย่าง ผักคะน้า บรอกโคลี ปวยเล้ง ใบมะรุม และผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะขามป้อม สตรอเบอร์รี่ ฝรั่ง ลิ้นจี่ เป็นต้น

อาหารที่มีซิงค์สูง ได้แก่ 

  • สัตว์ทะเลเปลือกแข็ง เช่น ปู กุ้ง หอยนางรม หอยแมลงภู่ และหอบกาบ 
  • เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อแกะ 
  • ปลา เช่น ปลาซาดีน ปลาแซลมอน 
  • ถั่ว เช่น ถั่วดำ ถั่วลูกไก่ (Chickpeas) ถั่วเขียว 
  • ธัญพืช เช่น เมล็ดฟักทอง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดแตงโม ข้าวโอ๊ต ควินัว
  • ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น นมสด โยเกิร์ต เนย ชีส
  • ไข่
  • ผักบางชนิด เช่น เห็ด ผักคะน้า หน่อไม้ฝรั่ง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ