เกิดเหตุการณ์ที่ชาวโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหูสำหรับกรณีที่ กุหลาบดำ สจ.เปี๊ยกอุทัย นักมวยไทยชื่อดัง โดนนิ้วของ ราฟฟี่ โบฮิค จิ้มตา จนไม่สามารถชกต่อได้ เพียงแค่ยกแรก ในศึก ONE ลุมพินี 26 เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่สนามมวยเวทีลุมพินี (รามอินทรา)
คู่เอกประจำสัปดาห์ “ซ้ายอุกกาบาต” กุหลาบดำ สจ.เปี๊ยกอุทัย วัดศักดิ์ศรีอดีตแชมป์เวทีลุมพินีกับ “ขุนเข่าแดนน้ำหอม” ราฟฟี่ โบฮิค จากฝรั่งเศส ในกติกามวยไทย รุ่นแบนตัมเวต (135-145 ป.)
คู่นี้เกิดเหตุไม่คาดฝันเมื่อทั้งคู่กำลังแลกหมัดกันกลางเวที นิ้วของ ราฟฟี่ พลาดไปจิ้มเข้าตาของ กุหลาบดำ จนต้องให้ทีมแพทย์เข้ามาเช็กดูอาการ ก่อนตัดสินใจให้ยุติการชก และเนื่องจากเกมการชกดำเนินไปยังไม่ถึง 1 ยกจึงไม่สามารถตัดสินด้วยคะแนนได้ ทำให้ต้องจบลงแบบ “ไม่มีผลการแข่งขัน”
หลังการชก กุหลาบดำ สจ.เปี๊ยกอุทัย ที่ปฐมพยาบาลเสร็จโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า “ก่อนอื่นผมต้องขอโทษบอสชาตรีด้วยนะครับที่วันนี้ผมไม่สามารถทำการชกต่อได้ เนื่องด้วยโดนนิ้วทิ่มตา ใครจะมองยังไงผมไม่รู้ ขนาดแค่โดนแมงหรือโดนฝุ่นเข้าตายังเจ็บยังเคืองเลย อันนี้ผมโดนนิ้วทิ่มตานะครับ”
“ใจผมผมอยากชกต่อครับ แต่มันชกต่อไม่ได้ เพราะว่ามันเจ็บแล้วมันก็มองไม่เห็นด้วยครับ ขอบคุณทุกกำลังใจมากๆนะครับที่ส่งมาให้ผม โอกาสหน้า ค่อยว่ากันใหม่ครับ ถ้าผมไม่เจ็บจริงผมไม่มีสำออยให้เห็นแน่นอนครับ ขอบคุณทุกกำลังใจมากๆครับ ผม #กุหลาบดำ ส.จ.เปี๊ยกอุทัย กราบขอโทษทีมงานวันทุกท่านเลยนะครับ กราบขอโทษจากใจจริงครับ ขอบคุณครับ”
จากนั้นแฟนมวยในโซเชียลต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นถึงมาตรฐานความปลอดภัยของนักกีฬากันเป็นอย่างมาก เพราะกีฬามวยเป็นกีฬาปะทะจึงต้องมีการกำหนดมาตรฐานของอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ เพราะกรณีที่เกิดขึ้นกับ กุหลาบดำ เกิดจากอุปกรณ์ที่เรียกกันว่า “นวมเปิดนิ้ว” ซึ่งคนมวยไทยต่อต้านและไม่เห็นด้วยกันมาโดยตลอด เพราะจะเกิดอันตรายต่ออวัยวะที่บอบบางเช่น ดวงตาของนักกีฬา ที่สำคัญคนมวยไทยจะไม่ถือว่า “นวมเปิดนิ้ว” เป็นกีฬามวยไทย
ผู้สื่อข่าวเข้าไปดู พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 พบว่า ตามพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 จะมุ่งเน้นให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของนักกีฬาเป็นหลักดังนี้
มาตรา 16 ให้คณะกรรมการจัดให้มีระเบียบและกติกามาตรฐานสำหรับการแข่งขันกีฬามวยเพื่อใช้ในการจัดการแข่งขันกีฬามวย ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงอายุ เพศ ความปลอดภัยของนักมวย และจารีตประเพณีในการแข่งขันกีฬามวย
มาตรา 21 ในการควบคุมกีฬามวยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่นายทะเบียนมอบหมาย มีอำนาจดังต่อไปนี้ (1) เข้าไปในสนามมวยในระหว่างเวลาที่ทำการอยู่เพื่อตรวจสอบใบอนุญาต สภาพ และลักษณะของสถานที่ทำการ เครื่องมือเครื่องใช้และยานพาหนะเพื่อการพยาบาลที่ใช้ ในการจัดการแข่งขันกีฬามวย ตลอดจนเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกีฬามวย
มาตรา 35 ห้ามมิให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการนักมวย นายสนามมวย และผู้จัดรายการแข่งขันมวย เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน การขอรับใบอนุญาต คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต และแบบใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง