วาเลนไทน์ : เคยถามพ่อแม่ไหมว่า เมื่อก่อนพวกท่านจีบกันยังไง?

Home » วาเลนไทน์ : เคยถามพ่อแม่ไหมว่า เมื่อก่อนพวกท่านจีบกันยังไง?



เรื่องราวความรักมักแตกต่างไปตามยุคสมัย ด้วยวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป หรือแม้แต่สภาพสังคมก็ล้วนมีบทบาททั้งสิ้น โดยเฉพาะ “การจีบ” ที่ไม่ว่าจะเรียบง่าย ต้องลุ้นตัวโก่ง หรือหากคนอื่นได้ยินคงอายม้วนทีเดียว โดยเฉพาะหากนั่นเป็นเรื่องราวความรักของพ่อแม่เราเอง

ในโอกาสเทศกาลเฉลิมฉลองวันแห่งความรักปีนี้ บีบีซีไทยรวบรวมเรื่องเล่าการจีบกันของพ่อแม่ จากคำบอกเล่าของลูกหลาน ที่ฟังแล้วทั้งน่ารักและแฝงแง่คิดไปในเวลาเดียวกัน

เริ่มต้นด้วยคำมั่นสัญญา

ว่ากันว่าคนเรายิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งชอบเล่าเรื่องราวชีวิตสมัยที่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว คงจะเป็นจริง อย่างที่แม่เพ็ญ ในวัย 77 ปี เปิดปากเล่าถึงความรักที่ไม่เคยพูดถึงมาก่อนให้กับคุณผึ้ง (นามสมมติ) ลูกสาวได้ฟัง หลังจากที่คู่ชีวิตที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมานับ 30 ปี จากไปได้ราวหนึ่งปี จากจุดเริ่มต้นของคำสัญญาที่ว่า “ใครรอฉันได้ถึง 3 ปีได้ จะแต่งงานด้วย”

คุณผึ้ง บุตรสาวในวัย 44 ปี เล่าถึงการจีบกันของคุณพ่อคุณแม่ว่า พบรักกันจากการเป็นหนุ่มสาวโรงงานทอผ้า โดยที่คุณแม่เพ็ญที่รักษาความเป็นสาวโสดมายาวนาน ตัดสินใจประกาศกับหนุ่ม ๆ 3 คน ที่มาตามจีบว่าใครที่ทำตัวดีและรอคอยได้ครบ 3 ปี เธอก็จะยอมแต่งงานด้วย

“ตอนนั้นมีหนุ่มมาจีบแม่ 3 คน แล้วสามคนนั้นก็เป็นเพื่อนกันหมด… ด้วยแกไม่ได้หวังจะแต่งงานกับใคร คิดว่าคงไม่มีใครรอได้ สรุปพ่อรอได้ ลุงเทียมที่จีบด้วยทนได้แค่ 3 เดือน ส่วนลุงเหวยทนมาได้ปีนึง ก็ไม่ไหวแล้วอยากมีเมีย”

และแล้วคุณพ่อจำรัสที่อดทนอยู่ในลู่ในทาง ก็เป็นผู้พิชิตใจคุณแม่เพ็ญไป แต่ชีวิตตอนแต่งงานก็ไม่ได้ราบรื่นเหมือนในนิยาย เมื่อพื้นฐานแม่เพ็ญเติบโตมากับครอบครัวคนจีน จึงคัดค้านว่าที่ลูกเขยที่เป็นหนุ่มมอญแบบหัวชนฝา

“ฉัน 30 กว่าปีแล้ว แต่งไปไม่รู้จะมีลูกรึเปล่า นี่ขบวนสุดท้ายแล้ว ถ้าไม่ยอมให้แต่งฉันก็จะหนีตามละ” คุณผึ้งถ่ายทอดคำพูดของแม่เพ็ญด้วยเสียงหัวเราะ เพราะเธอเองก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเรื่องราวความรักของแม่จะครบรสขนาดนี้ แถมแม่ยังใจเด็ดเหลือเกิน

“แม่ไม่ได้เป็นคนที่มีมุมมองควมรักแบบโรแมนติกสมัยสาว ๆ แต่เป็นคนรักษาคำพูดของตัวเองมาก ความรักของเขาอาจไม่ได้เกิดขึ้นจากการรักแต่แรก แต่พ่อยึดถือคำสัญญาของแม่ ส่วนแม่ก็ยึดถือคำพูดตัวเอง ส่วนความรักมาเกิดจากการได้ใช้ชีวิตด้วยกันแล้ว”

bbc

คุณผึ้งให้ความเห็นว่า เรื่องเล่าของแม่ทำให้เธอเห็นถึงความสำคัญของชีวิตหลังการแต่งงาน ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างความรัก และประคับประคองครอบครัว ซึ่งอาจต่างกับยุคสมัยปัจจุบันที่หนุ่มสาวบางคู่ทุ่มเวลากับการศึกษาดูใจ และให้ชีวิตหลังแต่งงานเป็นเรื่องของอนาคต อาจจะด้วยค่านิยมที่ไม่ได้มองแล้วว่า การหย่าร้างเป็นเครื่องหมายของความไม่ประสบสบความสำเร็จในชีวิตครอบครัว

นั่นจึงยิ่งน่าเชื่อว่า การจีบกันคงไม่ใช่สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้เฉพาะช่วงที่ศึกษาดูใจเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดได้ตลอดเวลาและอย่างต่อเนื่อง อย่างที่พ่อจำรัสมักจะเขียนจดหมายส่งมาให้คุณแม่เป็นประจำ ตอนที่ต้องไปทำงานในต่างประเทศเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นวิธีการจีบกันที่ลูกสาวมองว่า “อมตะเอามาก ๆ”

แม้การเขียนจดหมายอาจไม่ใช่วิธีการที่คนสมัยนี้คุ้นเคยมากนัก แต่ตัวอักษรเหล่านั้นกลับมีคุณค่าทางจิตใจต่อแม่เพ็ญอย่างมากในวันที่สูญเสียสามีไป และช่วงเวลาที่แม่เล่าวีรกรรมของพ่อสมัยที่จีบกันให้ลูกสาวฟัง ก็คล้ายเป็นเครื่องมือเยียวยาจิตใจและเพิ่มรอยยิ้มเมื่อได้ระลึกถึง

มนต์รักรถเมล์

“พ่อกับแม่ไม่ว่าจะเจอกันที่ไหน ก็เหมือนรถเมล์เป็นจุดเริ่มต้นตลอดเลย ครั้งแรกที่เจอก็บนรถเมล์สาย 25 พ่อบอกว่าแม่เด่นเตะตามาก เพราะหน้าตาเข้ม แถมชุดแม่สีแป๊ดมาก ขาว แดง รองเท้าหลากสี ด้วยพ่อเป็นหนุ่มสถาปัตย์ก็ตกใจว่าใช่เหรอ คู่สีพวกนี้”

ณกัญญา นนทิวรวงษ์ หรือพิมพ์ บอกเล่าอย่างติดตลกถึงความรักของพ่อและแม่ ที่ทำให้เธอเกือบจะได้ชื่อเล่นว่าน้องรถเมล์แล้ว เพราะนั่นไม่ใช่เพียงครั้งเดียวที่พวกท่านพบกับโดยบังเอิญ แต่การพบกันครั้งถัดมาก็เกิดขึ้นบนรถเมล์เช่นกัน จนนำมาสู่การสานสัมพันธ์ที่ต่อยอดมาเป็นครอบครัว

ดูเหมือนช่วงอายุที่ห่างกัน 5 ปี ดูจะไม่ใช่อุปสรรค เพราะพ่อของพิมพ์ทุ่มเทเต็มที่กับการเทียวรับเทียวส่ง และคอยช่วยเหลือไม่ว่าบ้านคุณแม่จะมีกิจกรรมอะไร จนเป็นที่ยอมรับจากคนในครอบครัว

“ตอนนั้นพ่อเรียนอยู่อุเทนตรงสยาม ทำวิจัยตัวจบด้วย ส่วนแม่พอเลิกงานจากสยามกลการก็ไปเรียนภาคค่ำที่ธุรกิจบัณฑิตแถวบางเขน พ่อนั่งรถเมล์ไปรับแม่จากที่ทำงานสยามบ้าง บางเขนบ้าง ไปส่งกลับบ้านแทบทุกวันเลย ไม่รู้เอาแรงมาจากไหน”

“เราประทับใจกับการแบ่งเวลาของพ่อมามาก อย่างที่ได้ยินมาว่า เวลาคือสิ่งที่มีค่าที่สุดของ เพราะฉะนั้นใครรักเราให้ดูว่าเขาแบ่งเวลาของเขามาให้เรารึเปล่า…ด้วยชีวิตเขาเป็นอนาล็อก ก็คุ้นชินกับการทุ่มเทเวลา อาจไม่เหมือนสมัยนี้ที่ทุกอย่างต้องเร็วไปหมด”

การที่พ่อของเธอแบ่งเวลาให้แม่อย่างเสมอต้นเสมอปลาย เป็นสิ่งที่พิมพ์ประทับใจมากที่สุดมาโดยตลอด

เมื่อมาถึงตอนนี้จากน้ำเสียงที่บอกเล่าด้วยความตื่นเต้น เปลี่ยนเป็นสั่นเครือด้วยเธอออกปากว่าเรื่องราวความรักของพ่อแม่ ช่วยให้เธอตระหนักว่าพวกท่านก็เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาคนนึง ที่ต้องรับบทบาทเป็นพ่อแม่เท่านั้น

“มันคือความน่ารัก ที่ทำให้เรารู้สึกว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่ไม่ได้มีแค่มิติเดียว แต่เขายังมีมิติที่เป็นคนรักกัน มีความรักให้กัน ช่วยให้เราเข้าใจพ่อแม่มาก”

ไม่น่าเชื่อว่าเพียงเรื่องราวความรักของพ่อแม่ จะช่วยลดช่องว่างความสัมพันธ์ และทำให้พิมพ์สะดวกใจกับการพูดคุยกับพวกท่านได้อย่างน่าประหลาดใจ

สาวร้านกล้วยทอดกับหนุ่มสวนผลไม้

“บ้านคุณแม่อยู่ที่ตลาดในตำบลหนึ่ง เป็นร้านขายกล้วยทอด สวนพ่ออยู่อีกตำบล ตอนนั้นเรียนอยู่ ก็ช่วยที่บ้านเก็บผลไม้มาขายที่ตลาด จนบังเอิญมาเจอกัน พ่อเลยชอบหาเรื่องออกมาตลาดบ่อย ๆ มาซื้อกล้วยทอด”

แล้วความสงสัยของ กัลป์ยานี จุลเจือ หรือวิว ในวัย 21 ปี ก็ได้รับการคลี่คลายเสียที หลังจากโดนคุณพ่อแกล้งอำถึงวีรกรรมสุดพิสดารว่าโดนคุณแม่ที่มาตกหลุมรักก่อน จึงคอยดักรอและแอบโรยเมล็ดถั่วเขียวไว้ที่ล้อรถจักรยานยนต์

วิวเล่าว่า ฟังไปก็แอบคล้ายพรหมลิขิต เพราะโดยปกติแม่ไม่ได้ทำหน้าที่ยืนขายหน้าร้าน แต่จะช่วยงานหลังร้านเสียมากกว่า พ่อเองก็ชอบอยู่กับสวนมากกว่าจะไปเดินเล่นตลาดเสียอีก ก่อนที่ผ่านไปไม่นานทั้งคู่จะตกลงแต่งงานกัน “คิดตามก็นับถือเขา เมื่อก่อนดูลำบากมากเลย จะติดต่อกันพ่อก็ต้องโทรเข้าเบอร์บ้าน ก็จะเจอคุณตารับก่อน ไม่เหมือนเราที่โทรไลน์กันก็ติดแล้ว มันเลยยิ่งทำให้พ่อแม่ค่อย ๆ ค้นพบตัวตนของแต่ละคน และอยู่กันได้มาถึงตอนนี้”

“เรามีโอกาสที่จะคุยกับใครง่ายขึ้น มากขึ้น แต่อาจไม่เหมือนพ่อแม่ที่มีโอกาสศึกษาคน ๆ เดียวได้นานกว่า…ถึงบริบทตอนนี้ต่างกับอดีต แต่เรารู้เรื่องราวทั้งสองช่วงเวลาแล้ว ก็อยากเอาไปปรับใช้ “

ด้วยช่วงวัยที่เธอกับพ่อแม่ไม่ได้ห่างกันมากนัก จึงทำให้ความสัมพันธ์ไม่ต่างกับการเป็นเพื่อนสนิท การได้ฟังเรื่องราวความรักของพวกท่านจึงยิ่งเพิ่มความใกล้ชิด และทำให้เธอกล้าที่จะปรึกษาในเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวมากขึ้น

นอกจากนี้คุณวิว ยังบอกเล่าว่า ทั้งสองคนมักเรียกแทนกันว่า “พ่อ” และ “แม่” ซึ่งเป็นการสร้างบรรยากาศในบ้านที่ดีมาก โดยเธอเองไมได้มองว่านี่เป็นการเรียกที่สะท้อนอำนาจกดทับความเป็นพ่อแม่ แต่ “เรารู้สึกว่าเขาให้ความสำคัญกับความเป็นครอบครัว และภูมิใจกับการเป็นพ่อแม่ของเขา”

getty

ที่มาของภาพ, Getty Images

โลกออนไลน์เชื่อมคนออฟไลน์

การเล่าประสบการณ์ความรักของคนรุ่นพ่อแม่สู่กันฟัง ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในกลุ่มก้อนของญาติพี่น้อง หรือคนรู้จักเท่านั้น แต่กลับเกิดการแบ่งปันเรื่องราวเหล่านี้ในโลกออนไลน์เป็นวงกว้าง อย่างกรณีของผึ้ง พิมพ์ และวิวก็เช่นกัน พวกเธอเลือกที่จะแบ่งปันเรื่องราวน่าประทับใจนี้ผ่านทวิตเตอร์

เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ คุณปลา (นามสมมติ) เจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ในชื่อ “Tipsuwan7” เป็นคนหนึ่งที่น่าจะช่วยบอกเล่าได้เป็นอย่างดี

ด้วยจุดเริ่มต้นที่ปลาโพสต์ข้อความชวนให้เพื่อนที่เธอเองก็ไม่เคยรู้จักในโลกออนไลน์ มาแบ่งปันเรื่อราวความรักของพ่อแม่ จนได้รับความสนใจมีผู้มาร่วมแสดงความเห็นกว่า 10,200 ความเห็น และรีทวีตไปถึง 24,000 ครั้ง

ปลาเล่าว่า สถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้หนุ่มสาวพบเจอกันยากขึ้น และการพบปะแต่ละครั้งก็มีหน้ากากที่สวมใส่คอยปกปิดใบหน้ากันอยู่เสมอ นั่นจึงยิ่งสร้างความลำบากในการทำความรู้จัก

ไม่เพียงเท่านั้นโรคระบาดยังสร้างกรอบการใช้ชีวิต ที่ทำให้แต่ละคนใช้เวลากับตัวเองมาขึ้น จนห่างหายกับคนใกล้ตัว ไม่เว้นแม่แต่ในครอบครัว จนเกิดการสร้างระยะห่างโดยไม่ได้ตั้งใจ การที่เธอเปิดการสนทนาให้ทุกคนมาแบ่งปันประเด็นความรักเช่นนี้ จึงไม่ได้หวังเพียงสร้างรอยยิ้มเล็ก ๆ ให้กับผู้คนในช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่อยากเปิดโอกาสให้แต่ละคนได้ใช้เวลาร่วมกับคนในครอบครัวด้วย

“บางคนไม่เคยสนใจว่าพ่อแม่เจอกันยังไงด้วยซ้ำเลยต้องไปถามพ่อแม่ที่บ้าน อันนี้ก็กลายเป็นอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คนในครอบครัวได้พูดคุยถามไถ่กันภายในครอบครัวให้ได้ยิ้มหัวเราะกันในช่วงระยะหนึ่งจากที่ลูกอาจทำงาน เรียนยุ่ง ไม่ค่อยคุยกับคนที่บ้านก็เป็นประเด็นหนึ่งให้เขาได้คุยกัน…มันช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัว ความสุขเริ่มจากในครอบครัวค่ะ ปลาเชื่อแบบนั้น”

…………………………………………..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ