วาเลนไทน์: ฮอร์โมนที่หลั่งจากลำไส้เปลี่ยนพฤติกรรมสัตว์ จากมุ่งหาอาหารเป็นต้องการสืบพันธุ์

Home » วาเลนไทน์: ฮอร์โมนที่หลั่งจากลำไส้เปลี่ยนพฤติกรรมสัตว์ จากมุ่งหาอาหารเป็นต้องการสืบพันธุ์



การที่คู่รักมักจะนัดรับประทานอาหารค่ำมื้อหรูกันในคืนวาเลนไทน์ และหลายคู่ก็อาจมีกิจกรรมสานสัมพันธ์รักกันต่อหลังจากนั้น ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกในทางชีววิทยาแต่อย่างใด

รายงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ชี้ว่า กลไกร่างกายที่ค้นพบใหม่ในแมลงวันผลไม้ (fruit fly) ซึ่งมนุษย์และสัตว์อื่น ๆ ก็อาจมีเช่นเดียวกัน สามารถกระตุ้นให้ลำไส้หลั่งฮอร์โมนที่สื่อสารให้สมองเปลี่ยนความสนใจและพฤติกรรม จากการมุ่งหาอาหารใส่ท้องมาเป็นการจับคู่สืบพันธุ์ได้ ภายหลังมื้ออาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานดิเอโกของสหรัฐฯ พบว่าฮอร์โมน Dh31 ซึ่งหลั่งจากลำไส้ของแมลงวันผลไม้ สามารถทำหน้าที่เป็นโมเลกุลส่งสัญญาณที่ช่วยให้ลำไส้และสมองสื่อสารกันได้ โดยศาสตราจารย์ จิ่ง หวัง ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า “น่าประหลาดใจที่ฮอร์โมน Dh31 ซึ่งผลิตจากระบบทางเดินอาหาร สามารถควบคุมพฤติกรรมสองแบบที่สำคัญอย่างยิ่งยวดต่อวิวัฒนาการของสัตว์ได้”

เพื่อให้ทราบถึงรายละเอียดของกลไกดังกล่าว ทีมผู้วิจัยทดลองใช้เทคนิคดัดแปลงพันธุกรรม ยับยั้งการทำงานของยีนที่ควบคุมการผลิตฮอร์โมน Dh31 ในแมลงวันผลไม้ตัวผู้ ซึ่งผลปรากฏว่าพวกมันพากันกินอาหารอย่างต่อเนื่องโดยไม่สนใจเพศตรงข้ามเลย แต่เมื่อทำให้ยีนดังกล่าวกลับมาทำงานตามปกติ แมลงวันผลไม้ตัวผู้กลับเปลี่ยนความสนใจจากอาหารมาเป็นแมลงวันตัวเมีย ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น

นอกจากนี้ การสร้างภาพเรืองแสงจากแคลเซียม (calcium imaging) และภาพถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูงยังยืนยันว่า กรดอะมิโนจากอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน สามารถกระตุ้นให้เซลล์บุผนังลำไส้ผลิตฮอร์โมน Dh31 ซึ่งจะเข้าสู่กระแสเลือดและไหลเวียนไปสู่สมอง ซึ่งจะทำให้เซลล์ประสาทในสมองที่มีตัวรับฮอร์โมนชนิดนี้อยู่ถูกกระตุ้นเร้าภายในเวลาไม่กี่นาที ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาที่แมลงวันผลไม้เปลี่ยนพฤติกรรมจากการกินเป็นการเกี้ยวพาราสีและสืบพันธุ์

รูปหัวใจในจานอาหาร

ที่มาของภาพ, Getty Images

กลไกเช่นนี้อาจเทียบได้กับการทำงานของฮอร์โมนโอเร็กซิน (Orexin) ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งทำหน้าที่เป็นโมเลกุลส่งสัญญาณในระบบประสาท ควบคุมกลไกการถูกกระตุ้นเร้า การตื่นจากหลับ และความอยากอาหาร นอกจากนี้ทีมผู้วิจัยยังสงสัยว่าระบบจุลชีวนิเวศ (Microbiome) ในลำไส้ อาจมีบทบาทต่อการสื่อสารกับสมองในเรื่องนี้ด้วย

“นี่เป็นครั้งแรกที่เราเข้าใจกลไกทางกายภาพ ซึ่งช่วยให้ลำไส้กับสมองได้สื่อสารกันและจัดการเปลี่ยนพฤติกรรมสัตว์ให้เป็นไปตามลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s hierarchy of needs) เมื่ออิ่มท้องแล้วก็จะต้องการความรักความผูกพันใกล้ชิดต่อไป” ศ. หวัง ผู้นำทีมวิจัยกล่าวสรุป

…………………………………………..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ