วันอาทิตย์นองเลือด : เมื่อทหารอังกฤษปราบปรามประชาชนผู้ไร้อาวุธในไอร์แลนด์เหนือ

Home » วันอาทิตย์นองเลือด : เมื่อทหารอังกฤษปราบปรามประชาชนผู้ไร้อาวุธในไอร์แลนด์เหนือ


วันอาทิตย์นองเลือด : เมื่อทหารอังกฤษปราบปรามประชาชนผู้ไร้อาวุธในไอร์แลนด์เหนือ

เมื่อ 50 ปีก่อน ได้เกิดเหตุทหารอังกฤษยิงใส่ผู้ชุมนุมเรียกร้องสิทธิพลเมืองของประชาชนที่ไร้อาวุธในเมืองลอนดอนเดอร์รี ของไอร์แลนด์เหนือ เมื่อ 30 ม.ค. 1972 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 คน และบาดเจ็บ 15 คน

เหตุการณ์ดังกล่าวถูกเรียกขานว่า “วันอาทิตย์ทมิฬ” หรือ “วันอาทิตย์นองเลือด” (Bloody Sunday) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ความขัดแย้งไอร์แลนด์เหนือ ที่เรียกว่า “เดอะทรับเบิลส์” (the Troubles) เนื่องจากมีพลเรือนในไอร์แลนด์เหนือถูกทหารอังกฤษสังหาร อีกทั้งยังไม่มีผู้ใดถูกนำตัวมาลงโทษจากกรณีที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการจนถึงปัจจุบัน

A victim of Bloody Sunday is carried through the streets of Derry

เดอะทรับเบิลส์ เป็นความขัดแย้งทางการเมืองและแนวคิดชาตินิยมระหว่างฝ่ายนิยมสหภาพ (Unionists) กับฝ่ายชาตินิยมไอร์แลนด์ โดยฝ่ายนิยมสหภาพ ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวอัลสเตอร์ และนับถือนิกายโปรเตสแตนต์ ต้องการให้ไอร์แลนด์เหนือคงอยู่กับสหราชอาณาจักร ขณะที่ ฝ่ายชาตินิยมไอร์แลนด์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไอริช นับถือนิกายคาทอลิกต้องการให้ไอร์แลนด์เหนือแยกจากสหราชอาณาจักรไปรวมกับประเทศไอร์แลนด์

เกิดอะไรขึ้น

Civil rights' marchers on the streets of Derry on Bloody Sunday

ที่มาของภาพ, PA

ช่วงเช้าของวันที่ 30 ม.ค. 1972 ประชาชนราว 15,000 คน ชุมนุมกันที่เมืองลอนดอนเดอร์รี ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของไอร์แลนด์เหนือ เพื่อประท้วงปฏิบัติการของทหารอังกฤษที่จับกุมคุมขัง ประชาชนจำนวนมากโดยไม่มีการพิจารณาคดีเพียงต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (Irish Republican Army หรือ IRA) ที่เป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนเพื่อแยกตัวจากสหราชอาณาจักร

5 เดือนก่อนหน้านั้น เมื่อ ส.ค. 1971 ไอร์แลนด์เหนือกำลังเผชิญปัญหาความรุนแรงและเหตุลอบวางระเบิดเพิ่มขึ้น ได้มีการออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อให้อำนาจทางการในการควบคุมตัวประชาชนโดยไม่ต้องมีการพิจารณาคดี เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่ามันคือหนทางเดียวที่จะนำความสงบเรียบร้อยกลับคืนมา

การเดินขบวนประท้วงในวันที่ 30 ม.ค. จึงถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และทำให้ทางการส่งทหารไปควบคุมการเดินขบวน

เหตุการณ์บานปลาย

Bloody Sunday

ที่มาของภาพ, Frederick Hoare/Central Press/Getty Image

การเดินขบวนประท้วงเริ่มขึ้นหลังเวลา 15:00 น. เล็กน้อย โดยมีจุดหมายปลายทางที่บริเวณใจกลางเมือง

แต่ทหารได้ใช้เครื่องกีดขวางปิดกั้นเส้นทางการเดินขบวน ผู้ประท้วงส่วนใหญ่จึงเปลี่ยนเส้นทางไปยังย่านบ็อกไซด์

หลังจากการปะทะกันเล็กน้อยระหว่างคนหนุ่มสาวกับทหาร ทหารหน่วยพลร่มจึงเข้าจับกุมผู้ประท้วง

ก่อนเวลา 16:00 น. เล็กน้อย มีการขว้างก้อนหินใส่ทหาร ทำให้ทหารตอบโต้ด้วยการยิงกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และการฉีดน้ำแรงดันสูง มีชาย 2 คนถูกยิงได้รับบาดเจ็บ

เวลา 16:07 น. ทหารพลร่มพยายามเข้าไปจับกุมผู้เดินขบวนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

16:10 น. ทหารเริ่มเปิดฉากยิงด้วยกระสุนจริง

ข้อมูลจากกองทัพ ระบุว่า ทหาร 21 นายได้ยิงกระสุนจริงไปทั้งสิ้น 108 นัด

Top row, from left to right: Patrick Doherty, Gerald Donaghey, John Duddy, Hugh Gilmour, Michael Kelly, Michael McDaid, Kevin McElhinney. Bottom row, from left to right: Bernard McGuigan, Gerard McKinney, William McKinney, William Nash, James Wray, John Young

เหตุทหารยิงพลเรือนที่ไร้อาวุธครั้งนี้ได้สร้างความโกรธแค้นขึ้นในเมืองลอนดอนเดอร์รี และลุกลามออกไปเป็นวงกว้าง

ในกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ประชาชนที่โกรธแค้นได้จุดไฟเผาสถานทูตอังกฤษจนราบคาบ

การสอบสวนครั้งแรก

หนึ่งวันหลังวันอาทิตย์นองเลือด รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ประกาศเปิดการสอบสวนกรณีที่เกิดขึ้น นำโดย ลอร์ด วิดเจอรี ประธานศาลสูงสุดแห่งอังกฤษและเวลส์

ผลการสอบสวนดังกล่าวตัดสินให้ทหารและเจ้าหน้าที่ทางการอังกฤษ พ้นผิด แม้ระบุว่า การที่ทหารใช้กระสุนจริงยิงใส่ประชาชนเป็นการกระทำที่ “หมิ่นเหม่ต่อการประมาทเลินเล่อ”

การสอบสวนครั้งนี้ได้รับเสียงวิจารณ์จากครอบครัวผู้เสียชีวิตว่า เป็นความพยายามปกปิดความผิดให้แก่ผู้กระทำผิด

การสอบสวนครั้งที่สอง

นายกรัฐมนตรี โทนี แบลร์ ได้ประกาศให้เปิดการสอบสวนรอบใหม่ ที่นำโดยผู้พิพากษา ลอร์ด ซาวิลล์ เพื่อหาความจริงจากเหตุนองเลือดดังกล่าว

การสอบสวนครั้งนี้เริ่มขึ้นในปี 1998 และทำรายงานแล้วเสร็จในปี 2010 ซึ่งถือเป็นการไต่สวนที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์กฎหมายอังกฤษ และใช้งบประมาณไปราว 200 ล้านปอนด์

การสอบสวนครั้งนี้พบว่า ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บคนใดมีพฤติกรรมที่เป็นอันตราย หรือกระทำการอันใดที่เป็นเหตุอันควรให้ถูกยิง

นอกจากนี้ยังพบว่า ทหารไม่มีการประกาศแจ้งเตือนประชาชนก่อนที่จะเปิดฉากยิงกระสุนจริงใส่พวกเขา อีกทั้งยังไม่พบว่า การยิงปืนของทหารเป็นการตอบโต้ต่อผู้ขว้างระเบิดเพลิง หรือผู้ที่ขว้างปาก้อนหินใส่

ลอร์ด ซาวิลล์ ระบุว่า มีการยิงจากกลุ่มติดอาวุธฝ่ายนิยมสาธารณรัฐบางคน แต่ก็เป็นการตอบโต้ที่ทหารเปิดฉากยิงก่อน

นายกรัฐมนตรี เดวิด แคเมอรอน ชี้ว่า การสังหารประชาชนของทหารครั้งนี้ “ไม่ชอบธรรม และไม่อาจอ้างเหตุผลในการกระทำได้”

Supporters of the Bloody Sunday victims' families in Derry's Guildhall Square

ที่มาของภาพ, Pacemaker

เกิดอะไรขึ้นหลังการสอบสวน

สำนักงานตำรวจไอร์แลนด์เหนือ (Police Service of Northern Ireland หรือ PSNI) ได้เปิดการสอบสวนหลังจากมีการเผยแพร่รายงานของลอร์ด ซาวิลล์

หลังจากใช้เวลาสืบสวนสอบสวนอยู่หลายปี ตำรวจได้ส่งสำนวนฟ้องไปยังสำนักงานอัยการของไอร์แลนด์เหนือ ช่วงปลายปี 2016

หลังจากพิจารณาสำนวนความยาว 125,000 หน้า คณะอัยการระบุเมื่อ 14 มี.ค. 2021 ว่าจะดำเนินคดีกับอดีตทหารพลร่มนายหนึ่งที่ถูกเรียกว่า “ทหารเอฟ” (Soldier F) ในความผิดฐานฆาตกรรมพลเรือน 2 คน คือ นายเจมส์ เรย์ วัย 26 ปี และนายวิลเลียมส์ แมคคินนีย์ วัย 22 ปี พร้อมกับความผิดฐานพยายามฆ่าอีก 5 กระทง

โปรดเปิดการใช้งาน JavaScript หรือบราวเซอร์ต่างออกไป เพื่ดูเนื้อหานี้

แต่เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ปีเดียวกัน สำนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ โดยให้เหตุผลว่าหลักฐานในคดีไม่สามารถใช้ในการเอาผิดจำเลยได้ เนื่องมาจากรูปการณ์ของการได้มาซึ่งหลักฐาน

ความอยุติธรรมจากเหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือดเปรียบดั่งเชื้อไฟที่กระตุ้นให้ขบวนการ IRA ต่อสู้เรียกร้องเอกราชด้วยวิธีการรุนแรงและนองเลือดเพิ่มขึ้นในช่วงอีกหลายทศวรรษต่อมา อีกทั้งยังทำให้โอกาสในการสร้างสันติภาพในไอร์แลนด์เหนือต้องถดถอยลงกว่า 20 ปี

PA

แม้จนถึงบัดนี้ยังไม่มีผู้เกี่ยวข้องในการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูกนำตัวมาลงโทษ แต่ครอบครัวผู้เสียชีวิตก็ยังคงเดินหน้าเรียกร้องความยุติธรรมต่อไป แม้วันเวลาจะล่วงเลยมาแล้วถึง 50 ปีก็ตาม

………….

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ