สำหรับผู้นับถือศาสนาพุทธ วันออกพรรษา เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง เพราะเป็นวันสุดท้ายที่พระสงฆ์จำพรรษาระยะเวลา 3 เดือน แต่วันนี้ คอสุราจำนวนไม่น้อยต้องอดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ร้าน เพราะบรรดาสถานประกอบการต่างปิดให้บริการเพราะมีกฎหมายห้ามไม่ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
แล้วการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มในวันออกพรรษาและวันสำคัญทางศาสนาพุทธเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อใด?
หลังจากรัฐประหารปี 2549 ที่ทำให้รัฐบาลในขณะนั้น บรรดา สส. และ สว. ที่มาจากการเลือกตั้งพ้นตำแหน่งไป กองทัพก็ตั้งกลุ่มคนขึ้นมาทำหน้าที่แทน 2 สภาดังกล่าวในชื่อว่า “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” หนึ่งในกฎหมายที่สภาของคณะรัฐประหารผลิตออกมาในช่วงท้ายๆ คือ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551
มาตรา 28 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศวันห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้
Paula Bronstein/Getty Images
เมื่อเดือน มิ.ย. 2552 ในยุคที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกําหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขึ้นมา ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน 4 วันสำคัญของศาสนาพุทธ ได้แก่
- วันมาฆบูชา
- วันวิสาขบูชา
- วันอาสาฬหบูชา
- วันเข้าพรรษา
แต่ไม่ถึง 1 เดือน ก็มีการออกประกาศฉบับใหม่ ให้ยกเว้นการบังคับใช้กับบรรดาโรงแรม
Dan Kitwood/Getty Images
หลังเดือน พ.ค. 2557 ประเทศไทยกลับเข้าอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหารอีกครั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ออกประกาศเรื่องนี้ออกมาเป็นฉบับที่ 3 เมื่อปี 2558 เพิ่มวันที่ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์วันที่ 5 เข้าไป คือ วันออกพรรษา แต่ไม่ยกเว้นให้บรรดาโรงแรมอีกแล้ว แต่เปลี่ยนไปยกเว้นการบังคับใช้กับร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ในสนามบิน
ดูแล้วการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ นี่ยังไม่นับว่าเมื่อปี 2563 ระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์และคนจำนวนมากหันไปซื้อขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังออกประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบออนไลน์ด้วย
Lauren DeCicca/Getty Images