องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปีเป็น วันลดภัยพิบัติสากล (International Day for Disaster Risk Reduction) จุดประสงค์หลักของวันลดภัยพิบัติสากล คือเพื่อสร้างความตระหนักและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนให้มีส่วนร่วมในการจัดการและลดความเสียหายจากภัยพิบัติ ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับวิธีการรับมือกับภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการระวังป้องกัน การบรรเทา และการให้ความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉินต่างๆ
- ความเป็นมา “วันนวมินทรมหาราช” 13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 9
- ทรัพย์สินทางปัญญา คืออะไร ความรู้เบื้องต้น กันไวจะได้ไม่เจอฟ้อง
- วันนี้วันอะไร? 6 ตุลาคม “วันยิ้มโลก” เพราะฉนั้นเรามา “ยิ้ม” กันเถอะ!
ภัยพิบัติ หมายถึงอะไร
ภัยพิบัติ หมายถึง ภัยที่รุนแรง หรือเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อบุคคลเดียว หรือต่อผู้คนเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าที่ใดที่เกิดภัยพิบัติย่อมนำมาซึ่งความสูญเสีย ทั้งทรัพย์สินสิ่งของและผู้คนอย่างแสนสาหัส สร้างความลำบากในการดำเนินชีวิต เช่น บาดเจ็บ ไร้ที่อยู่ขาดที่ทำกิน พิการ ฯ ลักษณะการเกิดภัยพิบัติ พิจารณาตามลักษณะการเกิดภัยพิบัติ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ เกิดจากธรรมชาติ และเกิดจากกระทำของมนุษย์
ภัยพิบัติจากธรรมชาติ (Natural Disaster)
เป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สิน
ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล
- วาตภัย เป็นภัยที่เกิดจากความเร็วของลม เช่น พายุไต้ฝุ่น พายุ โซน ร้อน พายุฤดูร้อน พายุฟ้า คะนอง ฯลฯ
- อุทกภัย เป็นภัยที่เกิดจากฝนตกหนัก เช่น น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมในฤดูฝน คลื่นจากพายุซัดฝั่ง เขื่อน ฝาย พัง
- คลื่นความร้อน เป็นลักษณะของอากาศที่มีอากาศร้อนจัด ผิดปกติ
- อากาศหนาวผิดปกติเช่น ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีอากาศหนาวในบางปีต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเซียส
- ฝนแล้ง เนื่องจากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้เกิดความเสียหายต่อพืชพันธ์ทางการเกษตร เกิดความขาดแคลนอาหารและน้ำ
ภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวโลก
- แผ่นดินเลื่อนหรือแผ่นดินถล่ม เป็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นดินทำให้เกิดการไหวและการสั่นสะเทือน หรือเมื่อมีฝนตกหนักบริเวณเทือกเขาที่มีพื้นดินขาดต้นไม้หรือพืชคลุมดินที่ไม่มีการยึดเหนี่ยวของพื้นผิวดิน อาจทำให้พื้นผิว ดินพังทลายลงมาทับบ้านเรือนตามบริเวณเชิงเขา
- แผ่นดินไหว เป็นการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีการสั่นสะเทือนเป็น คลื่นติดต่อกันจากจุดศูนย์กลาง ออกไปทุกทิศทางทำให้บ้านเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างพังทลาย ถ้าเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงข้างใต้พื้นท้องทะเลอาจทำให้เกิดคลื่นใต้น้ำ (Tsunami) ซัดเข้าโจมตีฝั่งได้
- ภูเขาไฟระเบิด (ผลกระทบมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่นอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์) คือการระเบิดของแรงดันจากความร้อนภายใต้พื้นผิวโลกมีการพ่นลาวา และเกิดการสั่นสะเทือนของภูเขาและพ่นควันที่เป็นพิษกระจายออกไปทั่วอาเซียน
ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นตามลักษณะสภาพของภูมิประเทศ
- อุทกภัย เป็นภัยที่เกิดจากน้ำท่วมในบริเวณพื้นที่ที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล มักจะมีน้ำท่วมเป็นประจำและในบริเวณที่ลุ่ม
- ดินถล่ม หินถล่ม เป็นการถล่มทลายของก้อนหิน ดินหรือโคลน เมื่อชุ่มน้ำฝนมีน้ำหนักมากอาจเลื่อนไหลลงมาทับบ้านเรือนและผู้คนบริเวณเชิงเขา
ภัยพิบัติที่เกิดจากเชื้อโรคและภัยพิบัติที่เกิดจากสัตว์และแมลง
- การระบาดของโรค เช่น อหิวาตกโรค ไข้สมองอักเสบ โรคเอดส์ เมื่อมีแหล่งแพร่เชื้อ หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ
- ภัยจากสัตว์หรือแมลง เช่น หนูนา หรือตั๊กแตนที่มีจำนวนมากทำให้เกิดความเสียหายแก่พืชไร่ อาจเกิดการขาดแคลนและอดอยาก
ภัยพิบัติที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ (Manmade Disaster)
เนื่องจาก สิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์เพื่อความสุขสบาย หรือเพื่อการสงคราม จำแนกเป็น
ภัยจากอุบัติเหตุทางคมนาคม
- ทางบก เช่น รถชนกัน รถพลิกคว่ำ รถตกเหว รถไฟตกราง
- ทางน้ำ เช่น เรือล่ม หรือเรือชนกัน
- ทางอากาศ เช่น เครื่องบินตก เครื่องบินชนกัน เครื่องบินระเบิด
ภัยจากการก่อสร้าง
- การก่อสร้างที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย การพังทลายของอาคารที่ได้ก่อสร้างผิดแบบ ผิดเทศบัญญัติมีการต่อเติมอาคารจนฐานราก ไม่สามารถทานน้ำหนักได้
ภัยจากการประกอบอุตสาหกรรม
- การระเบิดของท่อก๊าซหรือท่อ แก๊สภายในโรงงาน หม้อไอน้ำระเบิด สารเคมีลุกไหม้เกิดควันที่เป็นพิษ ปฏิกรณ์ปรมาณูการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีภัยจากขยะเคมีรังสีที่ไม่มีสัญชาติ
ภัยจากการขัดแย้งทางลัทธิหรือการก่ออาชญากรรมในที่สาธารณะ
- เช่น การวางระเบิดในสถานที่ชุมชนในสถานที่ราชการ และภัยจากอาชญากรข้ามชาติ
ภัยที่เกิดจากจลาจล
- เป็นภัยที่เกิดจากการที่ชุมชนมีการขัดแย้งกันอย่าง รุนแรง ทำให้เกิดการยกพวกปะทะกัน หรือเผาอาคาร บ้านเรือน สถานที่ราชการ
ภัยจากการปะทะด้วยกำลังอาวุธ
เช่น การก่อการร้าย สงครามกองโจร สงครามเต็มรูปแบบ เช่น สงครามโลก ครั้งที่ ๑ และ ๒ สงครามในตะวันออกกลาง อาวุธชีวะ เคมีรังสีสารพิษและ เชื้อโรค ภัยพิบัติบางอย่างอาจเกิด จากการกระทำของมนุษย์หรือเกิดจากธรรมชาติหรือทั้งธรรมชาติและมนุษย์มีส่วนร่วมทำให้เกิดภัยรุนแรงขึ้น
– ไฟไหม้ป่า อาจเกิดจากการที่ฟ้าผ่าต้นไม้เกิดการลุกไหม้ป่า เกิดจากการเผา ป่าเพื่อล่าสัตว์ หาของป่า ไฟจากความประมาทของนักท่องเที่ยว
– อุทกภัย เกิดฝนตกหนักเหนือเขื่อนและการพังทลายของเขื่อนจากการก่อ วินาศกรรม บริเวณใต้เขื่อน
– อัคคีภัย เกิดการลุกไหม้ขึ้นได้เองของสารเคมีไฟฟ้าลัดวงจรหรือเกิดจากการ ลอบวางเพลิง
– การระบาดของโรคติดเชื้อเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและจากสงครามเชื้อโรค
ผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติ
- ความเสียหายทางเศรษฐกิจ เช่น ภัยจากแผ่นดินไหว ทำให้อาคารบ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรมถล่มทลาย เส้นทางคมนาคม ขนส่ง ถนน ทางรถไฟ เสียหาย ทำให้การติดต่อขนส่งสินค้า และการผลิตสินค้าหยุดลง เกิดความจำเป็นในการดำรงชีพ ประเทศต้องสูญเสียเงินไปฟื้นฟูบูรณะอย่างมากมายกว่า จะกลับคืนสู่ภาพปกติจึงเกิดการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ
- ความเสียหายด้านเกษตรกรรม เช่น ทำให้ข้าวและพืชผลทางเกษตร เสียหายเกิดความขาดแคลนและอดอยาก
- ความเสียหายทางด้านอุตสาหกรรม เช่น เมื่อเกิดเพลิงไหม้ทำให้เกิดการสูญเสีย วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการผลิต การหยุดกิจ การทำให้คนว่างงาน สินค้าขาดตลาด
- ความเสียหายต่อทรัพย์สิน ความสูญเสียทรัพย์สินของทางราชการ และของประชาชนขึ้นอยู่กับประเภทของภัยพิบัติความรุนแรงของภัยพิบัติที่เกิดขึ้น
- ความเสียหายต่อร่างกายและชีวิต เช่น ทำให้เกิดบาดเจ็บ เจ็บป่วย และ สูญเสียชีวิต
แนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการบริหารจัดการสาธารณภัย
แนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการบริหารจัดการสาธารณภัย พบว่าเป็นแนวคิดที่มีความสำคัญมาก แต่ละสังคมจำเป็นต้องมีความชัดเจน ทั้งแนวคิดการป้องกัน การเตรียมการ/เตรียมความพร้อม การตอบสนองต่อความเร่งด่วน/ภาวะ
วิกฤต หรือ การเผชิญเหตุ/ภัยพิบัติการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์การฟื้นฟู-บูรณะ-การเยียวยา (ซึ่งกระบวนการหลังสุดนี้จะ
ต้องเกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบและความเสียหาย/ความสูญเสียในด้านต่าง ๆ ด้วย) โดยมีรายละเอียดของแต่ละ
แนวคิดย่อย ดังต่อไปนี้คือ
การป้องกัน (Prevention)
โดยปกติทั่วไป มักหมายถึง การดำเนินการต่างๆเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ภัยพิบัติเกิดขึ้น หรือ ทำให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด ในกรณีของอุทกภัยอาจจะมีความจำเป็นต้องทำการป้องกันในเชิงกายภาพ เช่น การยกของขึ้นที่สูง การทำคันกั้นน้ำ ฝายกั้นน้ำ กาลักน้ำ การสร้างเขื่อน หรือ การป้องกันการสร้างภูมิคุ้มกันในระดับจิตใจ เพื่อลดผลกระทบต่อจิตใจ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นกรณีการป้องกันที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว อาจจะเป็นการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของอาคารสิ่งก่อสร้าง เช่น การมีโครงสร้างรองรับแผ่นดินไหว เช่น การออกแบบให้มีลักษณะยืดหยุ่นไปตามแรงสั่นสะเทือน แต่ไม่พังทลายลงมา หรือ อาจจะเป็นการออกกฎหมายห้ามและควบคุมการใช้ที่ดิน ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยต่างๆ เป็นต้น
การป้องกันนี้ในกรณีของประเทศญี่ปุ่น พบว่า ได้มีการดำเนินการต่างๆมากมาย โดยเฉพาะการมีระบบสนับสนุนในการ
ป้องกัน หรือ มีการจัดวางโครงสร้างทางสังคม เพื่อรองรับให้สามารถทำการป้องกันได้อย่างแท้จริง นอกจากกรณีแผ่นดินไหว แล้วยังมีความพยายามในการป้องกัน กรณีภัยพิบัติอื่นๆ อีกด้วย เช่น การป้องกัน ดินโคลนถล่ม น้ำท่วม ฯลฯ โดยรัฐบาลหรือประเทศญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านความรู้และวิชาการ การพัฒนาระบบข้อมูล ฐานข้อมูลที่เป็นระบบ Real Time และ ยังให้ความสำคัญกับการวิจัยและการคาดการณ์ต่างๆ โดยมีสถานีทดลอง การพัฒนาตัวแบบจำลอง หรือ model ต่างๆ เพื่อทำการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศภายใต้สมมติฐานต่าง ๆ และมีการจำลองสถานการณ์ พร้อมซักซ้อมและการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ ทะเลสมุทรศาสตร์ธรณีวิทยา ฯลฯ อย่างมีความเชื่อมโยงกัน โดยมีสถาบันวิจัย ฯ เป็นแกนกลางในการทำงานด้านนี้หลายสถาบัน ฯ ด้วยกัน
การเตรียมความพร้อม (Preparedness)
โดยปกติมักหมายถึง การเตรียมการล่วงหน้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับปัจเจกบุคคล ครอบครัว กลุ่ม องค์กร หน่วยงาน ชุมชน รัฐบาล สังคม ประเทศ ในการเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติภาวะภัยพิบัติหรือ ภาวะวิกฤตต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ได้แก่ การจัดทำแผนรองรับภาวะฉุกเฉิน การจัดทำระบบการสื่อสารในภาวะฉุกเฉิน ภาวะวิกฤต การเตรียมการอพยพประชากรกลุ่ม เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ (โดยเฉพาะที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเอง เช่น เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต) หญิงมีครรภ์ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้พิการ (ซึ่งมีหลายประเภท โดยเฉพาะ ผู้พิการทางสายตา ทางหูทางการเคลื่อนไหว ทางสติปัญญา หรือ ทางจิต เป็นต้น) รวมถึงการฝึกซ้อมและอบรมให้ความรู้แก่ประชาชน สาธารณชน ชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง อันเนื่องมาจากการตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ ๆ มีความเสี่ยงต่อการได้รับ ผลกระทบ เช่น ริมน้ำ ชายคลอง เชิงเขา ฯลฯ สำหรับการเตรียมพร้อมในระดับปัจเจกบุคคลและระดับครอบครัว ครัวเรือน มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้สามารถช่วยรักษาชีวิตและทรัพย์สิน ได้เป็นอย่างดีดังนั้น การให้การศึกษา หรือ ชี้ให้ เห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระดับปัจเจกบุคคล และ ระดับครอบครัว เพื่อให้เกิดการเตรียมการ เตรียมความพร้อมต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง จึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า การเตรียมการ/เตรียมพร้อมในระดับกลุ่ม-ชุมชน หรือ ระดับพื้นที่ภูมินิเวศน์ด้วย
การตอบสนอง/การเผชิญหน้า/การเผชิญเหตุภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน (Emergency/Disaster Response)
ซึ่งโดยปกติมักหมายถึง การปฏิบัติการอย่างทันทีทันใดของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เมื่อมีภัยพิบัติใดๆเกิดขึ้น โดยมี
มาตรการต่างๆ เพื่อช่วยชีวิต ป้องกันอันตราย และความสูญเสียต่าง ๆ เช่น การค้นหาช่วยชีวิต การกู้ภัย การอพยพ
การผจญภัย การผจญเพลิง (กรณีอัคคีภัย) การแจกจ่ายอาหารและยา การจัดทำที่พักชั่วคราว การปฐมพยาบาลเบื้องต้นและ การนำส่งโรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ในกรณีของประเทศไทย ยังเป็นมิติของการกระทำหน้าที่โดยหน่วยงาน ภาครัฐ หน่วยงานราชการ เป็นหลัก โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการทหาร และ หน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข (ปัจจุบัน ประเทศไทยเรามีระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ที่กำลังมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะ ศูนย์นเรนทร) เสริมด้วยบทบาทของหน่วยงานอาสาสมัคร หรือ องค์กรสาธารณกุศลของภาคเอกชนต่าง ๆ เช่น มูลนิธิได้แก่ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญู ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบัน พบว่า ในแต่ละจังหวัด มีหน่วยงานลักษณะนี้เกิดขึ้นมากพอสมควร
การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ (Relief/Mass Relief)
โดยปกติมักหมายถึง การให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆแก่ผู้ประสบภัย อย่างทันทีทันใด/ทันท่วงที/ทันการณ์ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตที่ใกล้เคียงกับภาวะปกติได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการได้รับปัจจัยสี่ ได้แก่ อาหาร/น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย (หรือ แหล่งพักพิงชั่วคราว/บ้านพักฉุกเฉิน ที่มีปัจจัยเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ พอสมควร เช่น ห้องน้ำสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เพื่อลดความตึงเครียด/ความเครียด ฯลฯ) และยารักษาโรค ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิต/เอาชีวิตรอดให้ได้ซึ่งการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์นี้มีความหมายที่ใกล้เคียงกับการเผชิญหน้า/การตอบสนองต่อภัยพิบัติหรือ เหตุฉุกเฉินต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วข้างต้น
การฟื้นฟู/บูรณะ/เยียวยา (Recovery/Restoration/Reconstruction/ Rehabilitation)
เมื่อภัยพิบัติไม่ปกติผ่านพ้นไปแล้ว ก็จะต้องทำการฟื้นฟู บูรณะ เยียวยา เพื่อทำให้ปัจเจกบุคคล ครอบครัว กลุ่มประชากรต่าง ๆ ชุมชน พื้นที่ ๆ ได้รับผลกระทบ กลับคืนสู่สภาพที่ดีขึ้นระดับหนึ่ง หรือ กลับคืนสู่สภาพเดิมให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้แต่ในหลาย ๆ กรณีที่ภัยพิบัติมีความรุนแรงมาก ก็จำเป็นจะต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟูบูรณะ เยียวยา เช่น กรณีสึนามิในภาคใต้ต้องใช้เวลาหลายปีในการฟื้นฟู โดยเฉพาะ การฟื้นฟูด้านจิตใจสำหรับบุคคลหรือครอบครัวที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัว สูญเสียที่อยู่อาศัย สูญเสียแหล่งทำมาหากิน หรือ สูญเสียสภาพความเป็นชุมชนที่เคยอาศัยอยู่ หรือ มีการเปลี่ยนแปลงสภาพไปจากเดิมอย่างมหาศาล จนหลาย ๆ คนยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นไม่ได้ หรือ สถาบันแหล่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สูญหายเสียหายอย่างรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตที่ปกติทำให้จำเป็นต้องสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควร ได้แก่ ตลาด แหล่งอาหาร แหล่งทรัพยากรในการเลี้ยงชีพ เช่น การทำประมงชายฝั่ง หรือ สถานที่สำคัญทางศาสนา เช่น วัด ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ หรือ โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ฯลฯ เป็นต้น สำหรับมาตรการต่าง ๆ ที่สำคัญของการฟื้นฟูได้แก่ การซ่อมแซมบ้าน ที่พักอาศัย สิ่งก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน หรือ สิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภค สาธารณูปการ สาธารณสมบัติต่าง ๆ (เช่น ระบบไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ โรงเรียน วัด มัสยิด ฯลฯ) หรือ
อาจจำเป็นต้องมีการย้าย จัดตั้งชุมชนขึ้นมาใหม่ รวมไปถึง การฟื้นฟูบูรณะ เยียวยา ด้านจิตใจ (โดยเฉพาะกรณีการสูญเสียบุคคล สมาชิกในครอบครัว ดังกล่าวแล้วข้างต้น) หรือ การฟื้นฟูด้านอาชีพ-รายได้ที่จะต้องมีการลงทุนใหม่ โดยเฉพาะอาชีพอิสระต่าง ๆ หรือ สถานประกอบการขนาดย่อม ได้แก่การค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือ การแสวงหาอาชีพใหม่ ที่ให้โอกาสทางเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งจำเป็นต้องมีเงินลงทุนก้อนใหม่ หรือ ด้านครอบครัว ที่อาจต้องมีการรักษา เยียวยา ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ (กรณีได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ ฯลฯ) และ ด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น การจัดการขยะ การปลูกป่าชายเลนขึ้นมาใหม่การบำบัดน้ำเน่าเสีย การขนย้ายสิ่งปรักหักพังต่าง ๆ ฯลฯ
ที่มา : https://www.m-society.go.th/ewtadmin/ewt/mso_web/article_attach/15887/19028.pdf
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY