10 ตุลาคม ของทุกปีเป็น ” วันสุขภาพจิตโลก ” World Mental Health Day เพราะสุขภาพจิตสำคัญ เราจึงต้องดูแลเป็นพิเศษทั้งตัวเองและคนรอบข้าง ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ เพศใด ก็สามารถมีอาการทางจิต หรือมีปัญหาด้านสุขภาพจิตได้ ไม่ว่าจะกดดันหรือเครียด จากการทำงานและการเรียน การถูกคาดหวังจากคนรอบข้าง สิ่งแวดล้อมล้วนมีผลต่อจิตใจเราทั้งนั้น เพราะฉนั้นหันมาดูแลจิตใจตัวเอง รับฟังตัวเองให้มากขึ้น จะเป็นสิ่งที่ดีต่อชีวิต
- วันนี้วันอะไร? 9 ตุลาคม “วันไปรษณีย์โลก” World Post Day
- เลือกให้ดี! รู้จักประเภทของงานอดิเรกที่อาจเปลี่ยนชีวิตได้
- วันนี้วันอะไร? 10 สิงหาคม วันขี้เกียจสากล …
ที่มา วันสุขภาพจิตโลก
วันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) เริ่มจากองค์การสหพันธ์สุขภาพจิตโลก (World Federation for Mental Health : WFMH) ร่วมกับสมาคมนานาชาติ เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย (International Association for Suicide Prevention : IASP) สนับสนุนโดยองค์การอนามัยโลก เกิดขึ้นครั้งแรกวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2535
ในประเทศไทยมีพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 เพื่อปกป้องสิทธิของผู้ป่วยจิตเวช ส่งเสริมให้เข้ารักษาตัว และเมื่อหายแล้วก็กลับมารักษาให้ครอบคลุมการฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้
จำนวนผู้ป่วยจิตเวชในปัจจุบัน
ข้อมูลจากผลการวิจัย “อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 (Futures of Mental Health in Thailand 2033) โดย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ฯ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และ ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab by MQDC) ระบุว่า
ตัวเลขผู้ป่วยจิตเวชในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านคนในปี 2558 เป็น 2.3 ล้านคนในปี 2564 และ 1 ใน 14 ของเด็กอายุ 5-9 ปี /1 ใน 7 ของวัยรุ่นอายุ 10 – 19 ปี มีความผิดปกติด้านจิตประสาทและอารมณ์ ร้อยละ 17.6 ของวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย การฆ่าตัวตายเป็นเหตุสำคัญของการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่นไทย โดยทุกๆ 10 นาที จะมีคน 1 คนพยายามฆ่าตัวตาย และ ทุกๆ 2 ชั่วโมงประเทศไทยจะสูญเสียประชากร 1 คน จากการจบชีวิตตัวเอง ขณะที่ประเทศไทยพบผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพจิต-ซึมเศร้า เพิ่มขึ้น 1-2 % พบการฆ่าตัวตายสำเร็จต่อปีกว่า 4,625 คน (ปี พ.ศ. 2564-2565)
5 ปัญหาสุขภาพจิต ที่ควรระวัง
1. เครียดสะสม
การใช้ชีวิตบนความตึงเครียด ความกดดัน และมีความคาดหวังสูง 5-6 วันต่อสัปดาห์ มักเป็นสาเหตุของอาการเครียดสะสม ไม่ว่าจะคนทำงาน หรือเด็กนักเรียนก็ตาม หนึ่งในปัญหาสุขภาพจิตที่หลายคนเป็นแต่ไม่รู้ตัว สังเกตได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปทั้งด้านอารมณ์และการใช้ชีวิต เช่น นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก นิ่งเงียบ เบื่อหน่ายชีวิต เศร้าหมอง ความต้องการทางเพศลดลง เป็นต้น ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจกลายเป็นภาวะอันตรายที่นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางกายตามมาได้ ทั้งหัวใจ ความดันโลหิต ไมเกรน เครียดลงกระเพาะ และอื่นๆ ได้
จัดการความเครียด (ก่อน) สะสม ด้วยการวิเคราะห์ถึงต้นตอของปัญหาและแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุนั้นๆ หากเครียดมากจนไม่ไหวแนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์ หรือนักบำบัด พูดคุยเพื่อหาแนวทางแก้ไขวิธีอื่นๆ แทน หรือรับประทานยาที่ช่วยให้ผ่อนคลายมากขึ้น
2. ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome)
อาจเรียกได้ว่าเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่กำลังมาแรงในกลุ่มพนักงานออฟฟิศ คือภาวะการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจอันมีที่มาจากความเครียดสะสม ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แล้วว่าเป็นโรคที่สามารถส่งผลรุนแรงและคุกคามการดำเนินชีวิตได้หากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกวิธีจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยสาเหตุมักเกิดจากความเครียดเรื้อรังในการทำงาน ภาระงานที่หนักซับซ้อนเกินกว่าที่จะรับผิดชอบได้ไหว บั่นทอนจิตใจจนกลายสภาพเป็นความหมดไฟในที่สุด ความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ส่งผลให้มุมมองที่มีต่อการทำงานเป็นไปในด้านลบ ขาดความสุข หมดแรงจูงใจไม่อยากลุกไปออฟฟิตในยามเช้า และอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานต่ำลง ซึ่งหากปล่อยให้นานวันเข้าอาจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าได้
3. ภาวะความพึงพอใจในตนเองต่ำ (Low self esteem)
ปัญหาสุขภาพจิตที่หลายคนไม่รู้ตัวว่ากำลังเผชิญภาวะนี้อยู่ นั่นคือ ความรู้สึกเศร้าใจ ไม่ชอบสิ่งที่ตัวเองได้ตัดสินใจทำลงไปแล้วมากเสียจนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า สูญเสียความรู้สึกให้เกียรติตัวเอง แบกรับปัญหาและกล่าวโทษว่ามีต้นเหตุมาจากตัวเองไม่ดีพอ ไปจนถึงกลัวการเข้าสังคมเพราะกลัวที่ต้องถูกปฏิเสธ ขณะเดียวกันก็ไม่กล้าปฏิเสธคำขอของผู้อื่นเนื่องจากกลัวไม่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจากการขาดความเชื่อมั่นและศรัทธาในตนเองที่สะสมมาเป็นเวลานาน
4. โรคซึมเศร้า (Depression)
เป็นการเจ็บป่วยอย่างหนึ่งเช่นเดียวกับโรคทางกายชนิดอื่นๆ การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้มีความหมายว่าเป็นคนอ่อนแอ หรือไร้ความสามารถ แต่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง ที่มีผลกระทบโดยรวมต่ออารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม ไปจนถึงสุขภาพกาย นอกจากปัจจัยเสี่ยงที่มาพร้อมความเครียด ความกดดันที่สะสางได้ยาก สภาพสังคม พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม ล้วนมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าด้วย เราสามารถสำรวจตัวเองและคนรอบข้างว่าเข้าข่ายโรคซึมเศร้าหรือไม่ ด้วยอาการเศร้าซึม หม่นหมอง หดหู่ เก็บเนื้อเก็บตัว รู้สึกเบื่อหน่ายกับสิ่งที่เคยทำให้มีความสุข ซึ่งอาจรุนแรงไปจนถึงขั้นคิดทำร้ายตัวเอง หรือทำแบบทดสอบภาวะซึมเศร้า เพื่อประเมินสุขภาพจิตของตัวเองเบื้องต้น
5. กลุ่มโรควิตกกังวลและแพนิค (Panic Disorder)
เป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติที่คอยควบคุมส่วนต่างๆ ของร่างกายทำงานผิดปกติ รวมถึงมีความเครียดและความกดดันเข้ามาเป็นตัวกระตุ้น มักแสดงอาการได้หลายอย่างร่วมกัน เช่น หัวใจเต้นแรง ใจสั่น เหงื่อออกมาก หายใจหอบ อาเจียน วิงเวียนแบบฉับพลัน ตัวชา ควบคุมตัวเองไม่ได้ ไปจนถึงการหวาดกลัวสิ่งรอบตัวจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพจิตที่คุกคามชีวิตของคนวัยทำงานไม่มากก็น้อย
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY