วราวุธ ร่วม NIDA ย้ำท้องถิ่นจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก

Home » วราวุธ ร่วม NIDA ย้ำท้องถิ่นจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก


วราวุธ ร่วม NIDA ย้ำท้องถิ่นจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก

วราวุธ ร่วม NIDA บรรยายพิเศษ ผู้บริหารท้องถิ่น 76 จังหวัด ย้ำท้องถิ่นจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พาร์ต กรุงเทพฯ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ความยั่งยืนมิติใหม่ : ท้องถิ่นจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร เพื่อบรรลุหมุดหมาย SDGs ทั่วประเทศไทย พ.ศ.2573”

ภายใต้หลักสูตร “ผู้บริหารท้องถิ่นที่ยั่งยืน (Leadership for Sustainable Local Authority : LSL)” สําหรับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 จังหวัด ซึ่งจัดโดย บริษัท กรีน อีโคโลจี จํากัด ร่วมกับ คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

นายวราวุธ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับเป็นปัญหาสำคัญ โดย World Economic Forum มีรายงาน The Global Risks Report 2022 โดยพิจารณาความเสี่ยง 5 ประเภท ได้แก่ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ สังคม และเทคโนโลยี โดยความล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศที่รุนแรง เป็นประเด็นความเสี่ยง อันดับ 1 และ 2 ของโลกตามลำดับ

ทั้งนี้ประเทศไทยเป็น 1 ในประเทศที่มีความเสี่ยงจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูง ในรายงานจาก German watch ที่ประเมินว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงอยู่ในลำดับที่ 9 ของโลก ในปี 2021 อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของสภาวะโลกร้อนด้วยเช่นกัน

จึงเป็นที่มาของภารกิจสำคัญที่ตนได้ไปรับร่วมงานประชุม COP26 เพื่อมุ่งสู่การยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2564 ณ เมือง Glasgow สหราชอาณาจักร โดยภารกิจของเราคือ “ประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทางเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065”

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ในระดับท้องถิ่น การมีส่วนร่วมของท้องถิ่นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นกำลังหลักในการเปลี่ยนแปลงโดยรวมของประเทศ ท้องถิ่นต้องเข้มแข็งและผู้บริหารต้องเข้าใจถึงแก่นปัญหา ถึงจะแก้ไขปัญหาให้บรรลุเป้าหมายได้ โดยขณะนี้เราได้ส่งแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบาย BCG Economy ของรัฐบาล เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ

ซึ่งท้องถิ่นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้การลดก๊าซเรือนกระจกในระดับเมือง คือการจัดการที่ต้นเหตุของปัญหา ซึ่งท้องถิ่น สามารถมีส่วนร่วมได้เช่น การลดการใช้พลังงาน การจัดการของเสีย การปลูกต้นไม้ เป็นต้น

โดยปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ความสำเร็จของการดำเนินงานในระดับท้องถิ่น สัมฤทธิ์ผลได้ต้องมาจากความตระหนักรู้ในพื้นที่ การสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นท่ี ท้ังภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคสื่อสารมวลชน และภาคเอกชน ซึ่งต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ