ล็อตแรกเริ่มแล้ว! "ไอติม" นำทัพก้าวไกล ประเดิมยื่นปฏิรูปกองทัพ-ปิดช่องทุนผูกขาด เข้าสภาฯ

Home » ล็อตแรกเริ่มแล้ว! "ไอติม" นำทัพก้าวไกล ประเดิมยื่นปฏิรูปกองทัพ-ปิดช่องทุนผูกขาด เข้าสภาฯ

ชุดแรกเริ่มแล้ว! “ไอติม” นำทัพก้าวไกล ยื่นกฎหมายเปลี่ยนประเทศ ปฏิรูปกองทัพ-ปิดช่องทุนผูกขาด เข้าสภาฯ

วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ซึ่งตรงกับวันเปิดประชุมสภาฯ โหวตนายกฯ ครั้งที่ 2 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ทำงานต่อ ไม่รอแล้วนะ! ก้าวไกลยื่นกฎหมายเปลี่ยนประเทศ 2 ชุดแรก “ปฏิรูปกองทัพ – ปิดช่องทุนผูกขาด” เข้าสภาแล้ว

วันนี้ พวกเราผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล ได้ร่วมกันยื่นชุดกฎหมายเปลี่ยนประเทศ จำนวน 2 ชุด รวม 7 ฉบับ ได้แก่ ชุดกฎหมายปฏิรูปกองทัพ 5 ฉบับ และ ชุดกฎหมายปิดช่องทุนผูกขาด 2 ฉบับ โดยมีตัวแทนประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับเอกสาร

สาเหตุของการมีอยู่ของพรรคก้าวไกลคือการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้มีการเมืองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน มีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม มีระบบการบริหารราชการที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ และมีสังคมที่เท่าเทียมและโอบรับความหลากหลาย เริ่มต้นจากการผลักดันนโยบายที่พรรคก้าวไกลได้ให้สัญญากับประชาชนในการเลือกตั้ง ผ่านสองกลไกสำคัญคือ กลไกฝ่ายบริหารและกลไกฝ่ายนิติบัญญัติ

แม้การจัดตั้งรัฐบาลตามมติมหาชนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายผ่านกลไกฝ่ายบริหารยังไม่แล้วเสร็จ แต่พรรคก้าวไกลเราพร้อมเดินหน้าในการใช้กลไกนิติบัญญัติเพื่อขับเคลื่อนนโยบายทันที ผ่านการเสนอชุดกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนและของประเทศ

ปัจจุบัน พรรคก้าวไกลได้เตรียม ‘ชุดกฎหมายเปลี่ยนประเทศ’ ไว้ทั้งหมด 14 ชุด โดยวันนี้เป็นการยื่นร่างกฎหมาย 2 ชุดแรก รวมกันทั้งหมด 7 ฉบับ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา

A. ชุดกฎหมายปฏิรูปกองทัพ (Demilitarize) เสนอร่างกฎหมาย 5 ฉบับ ประกอบด้วย

(1) ร่าง พ.ร.บ. รับราชการทหาร : เพื่อยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารในยามปกติ เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ 100% รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของพลทหาร (เช่น ห้ามนำทหารไปทำงานรับใช้ส่วนตัว ห้ามกระทำการใดที่ละเมิดต่อร่างกายหรือจิตใจ) และออกแบบขั้นตอนธุรการต่างๆ (เช่น การรับสมัครทหารกองประจำการ) ให้ทันสมัยมากขึ้น

(2) ร่าง พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม : เพื่อตัดอำนาจของสภากลาโหม ให้พลเรือนอยู่เหนือกองทัพ เช่น กำหนดให้สภากลาโหมมีอำนาจหน้าที่เพียงให้คำปรึกษาหรือเสนอความเห็นแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปรับที่มาของสภากลาโหมโดยลดสัดส่วนข้าราชการทหารลง ยกเลิกบอร์ดแต่งตั้งนายพลโดยให้การแต่งตั้งนายพลเป็นไปตามกลไกที่ รมว.กลาโหม (ซึ่งมาจากรัฐบาลพลเรือน) กำหนดและคำนึงถึงระบบคุณธรรม หรือการเลื่อนขั้นตามความสามารถและผลงาน (merit system)

(3) ร่าง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ : เพื่อเพิ่มความโปร่งใสเรื่องภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐ (เช่น กำหนดให้มีการเปิดเผยรายงานสถานะหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐ และความเสี่ยงทางการคลัง ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของกระทรวงการคลัง) และเพิ่มความโปร่งใสเรื่องเงินนอกงบประมาณทั้งหมดของรัฐ (เช่น ทำให้ธุรกิจของกองทัพต้องมีความโปร่งใส)

(4) ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 : เพื่อยุบ กอ.รมน. อันเป็นการยุติโครงสร้าง ‘รัฐซ้อนรัฐ’ ที่ยัดเยียดนิยามความมั่นคงแบบทหารมาใช้ในภารกิจความมั่นคงภายใน ทำภารกิจที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานความมั่นคงอื่น รวมถึงขยายมาสู่ภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง (เช่น การศึกษา พลังงาน สิ่งแวดล้อม)

(5) ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. : เพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่มีเนื้อหาละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขัดต่อหลักนิติธรรม และไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งปัจจุบันยังคงเหลือ 17 ฉบับ

B. ชุดกฎหมายปิดช่องทุนผูกขาด (Demonopolize) เสนอร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ประกอบด้วย

(1) ร่าง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต หรือ ‘สุราก้าวหน้า’ : เพื่อปลดล็อกการผลิตสุราของผู้ผลิตรายย่อยและสุราชุมชน โดยแก้ไข ม.153 เพื่อห้ามไม่ให้การขอใบอนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้า มีการกำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับขนาดกำลังการผลิต กำลังแรงม้าเครื่องจักร จำนวนพนักงาน ประเภทบุคคลผู้มีสิทธิขออนุญาต จำนวนทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ หรือเกณฑ์อื่นที่อาจเปิดช่องให้มีการกีดกันการแข่งขันและผู้ผลิตสุรารายย่อย

(2) ร่าง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า : เพื่อสร้างกติกาแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ผ่านการปฏิรูปคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (เช่น ขยายขอบเขตอำนาจ ปรับกระบวนการสรรหาให้ได้กรรมการที่มีความเชี่ยวชาญและยึดโยงกับประชาชน เพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินการของกรรมการ) ออกกฎ ‘คนฮั้ววงแตก’ เพื่อป้องกันการฮั้วประมูลของบางบริษัทที่ร่วมมือกันผูกขาดหรือลดการแข่งขัน และขยายสิทธิผู้เสียหายในการฟ้องคดี

ส่วนชุดกฎหมายเปลี่ยนประเทศอีก 12 ชุด ที่พรรคก้าวไกลจะยื่นต่อสภาฯ หลังจากนี้ ประกอบด้วย ชุดกฎหมายปลดล็อกท้องถิ่น, ชุดกฎหมายปฏิรูประบบราชการ, ชุดกฎหมายป้องกันการทุจริต, ชุดกฎหมายยกระดับบริการสาธารณะ, ชุดกฎหมายปฏิรูปที่ดิน, ชุดกฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงาน, ชุดกฎหมายรักษาสิ่งแวดล้อม, ชุดกฎหมายปฏิรูประบบภาษี, ชุดกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ, ชุดกฎหมายโอบรับความหลากหลาย, ชุดกฎหมายยุติความขัดแย้ง และชุดกฎหมายแก้รัฐธรรมนูญ

พรรคก้าวไกลยืนยันว่า เราเดินบนเส้นทางการเมืองเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง กฎหมายทั้ง 14 ชุด จะสามารถแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้จริง และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยมี ‘การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต’

ติดตามความคืบหน้าของการผลักดันชุดกฎหมายทั้งหมดได้ที่ https://promise.moveforwardparty.org/laws/

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ