ลุยตรวจ คานสะพานพังถล่มซ้ำ คาดสาเหตุ อาจเกิดจากรื้อผิดขั้นตอน

Home » ลุยตรวจ คานสะพานพังถล่มซ้ำ คาดสาเหตุ อาจเกิดจากรื้อผิดขั้นตอน


ลุยตรวจ คานสะพานพังถล่มซ้ำ คาดสาเหตุ อาจเกิดจากรื้อผิดขั้นตอน

วสท.ลุยตรวจ คานสะพานพังถล่มทับรถคนดับซ้ำอีกรอบ คาดสาเหตุ อาจเกิดจากการรื้อถอนผิดขั้นตอน ยังไม่ฟันธงเป็นเหตุประมาท ย้ำต้องรอผลตรวจอีกครั้ง

วันที่ 2 ส.ค.2565 ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ หรือ วสท.พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบสะพานกลับรถ บริเวณหน้าโรงพยาบาลวิภาราม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ที่เกิดเหตุคานพังถล่มลงมาทับรถยนต์ประชาชนจนมีผู้เสียชีวิตเมื่อช่วงค่ำวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังวานนี้ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยคาดว่าอาจมีการื้อถอนผิดขั้นตอน

โดยจากการตรวจสอบครั้งนี้พบสภาพชำรุดของคานกับเหล็กที่ค้างอยู่บนสะพาน แต่คานหลักที่ร่วงลงมานั้นถูกเก็บกวาดไปแล้ว ซึ่งสะพานที่เห็น ปกติจะมีพื้นวางอยู่บนคานหลัก และมีคานเล็กรูปตัวไอยึดไว้ โดยการก่อสร้างต่างๆ ทั้งบ้านและอื่นๆ ต้องเริ่มจากส่วนล่างขึ้นข้างบน ฉะนั้นการรื้อ ก็ต้องเริ่มจากบนลงล่างเช่นกัน

สำหรับสะพานนั้น แท่นแบริเออร์กันรถตกหรือพาราเฟต คือสิ่งสุดท้ายที่จะถูกติดตั้ง จึงเป็นสิ่งที่ต้องรื้อออกก่อน แต่จากการตรวจสอบในวันนี้ คาดว่าอาจมีการรื้อพื้นก่อน ทำให้พาราเฟตซึ่งติดตั้งอยู่ข้างนอกสุดรับน้ำหนักแทนคานไม่ไหวจนร่วงลงมา อย่างไรก็ตาม กรณีนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นที่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าสาเหตุของอุบัติเหตุนั้นเกิดจากเรื่องใด ยังไม่อาจโทษว่าเป็นความประมาทได้หรือไม่ โดยการคุมงานก่อสร้างเช่นนี้ต้องมีวิศวกรควบคุมดูแลอยู่แล้ว แต่ต้องรอผลการตรวจสอบหลังมีการตั้งคณะกรรมการภายหลัง

ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นก็มีโอกาสที่เกิดจากการเสื่อมสภาพ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดจากเหตุที่เคยมีรถบรรทุกไฟไหม้บนสะพานหรือไม่ โดยแนวทางการแก้ไขต่อจากนี้ จะต้องปิดการจราจรเพื่อความปลอดภัยของประชาชน และต้องถอดพาราเฟตออกก่อนที่จะรื้อพื้น ซึ่งอธิบดีกรมทางหลวง ได้สั่งรื้อคานและสิ่งกีดขวางการจราจรออกทันทีภายในวันนี้เพื่อให้การสัญจรคล่องตัว แต่คาดว่าจะสามารถเปิดการสัญจรได้ในวันพรุ่งนี้

จากนี้กรมทางหลวงและ วสท.จะตรวจสอบโครงสร้างอย่างละเอียดโดยการสแกน 3 มิติและตรวจทางแลป อย่างไรก็ตาม ต้องขออภัยประชาชนที่อาจดำเนินการล่าช้าหรืออาจทำผิดพลาดไป

อย่างไรก็ตาม ปกติแล้วสิ่งก่อสร้างต่างๆ จะมีการบำรุงรักษาอยู่เสมอ สำหรับถนนสายนี้ มีสะพานทั้งหมด 16 จุด ซึ่งตอนนี้มีสะพานแห่งนี้จุดเดียวที่มีการซ่อมสร้าง ทั้งนี้ หากประชาชนพบว่าสิ่งก่อสร้างมีรอยร้าวลึกเป็นแนวตรงยาวไม่ว่าจะที่พื้นหรือผนัง สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อเร่งแก้ไขได้ทันที แต่ถ้าเป็นรอยแตกสะเปสะปะ อาจเป็นการเสื่อมสภาพของพื้นผิว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ