“ผมคือคนที่ไม่มีบ้านเกิด เพราะประเทศของผมถูกพวกคอมมิวนิสต์ยึดครอง” ลาซโล คุบาลา กล่าว
เขาคือดาวรุ่งพุ่งแรงของประเทศที่ลงเล่นในลีกสูงสุดตั้งแต่อายุ 15 และติดทีมชาติตั้งแต่อายุ 17 พร้อมกับเป็นความหวังใหม่ของวงการฟุตบอลฮังการียุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
อย่างไรก็ดี ในปี 1949 คุบาลา ตัดสินใจหนีออกจากประเทศ เพราะทนไม่ไหวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเกิด และต้องใช้ชีวิตในฐานะผู้ลี้ภัยในค่ายผู้อพยพอยู่นานหลายปี
ยิ่งไปกว่านั้น การออกมาจากฮังการีของเขา ยังทำให้รัฐบาลไม่พอใจ และถูกมองว่าเป็นผู้ “ชังชาติ” จนทำให้เขาถูกแบนจากฟีฟ่าด้วยข้อหานี้
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ทำให้โลกได้เห็นว่า เขาตัดสินใจไม่ผิด..
เจ้าหนูมหัศจรรย์
“ล้มลุกคลุกคลาน” อาจจะเป็นคำจำกัดความที่ดีที่สุดของ ลาซโล คูบาลา เมื่อชีวิตของเขาไม่เคยมีคำว่าสบายมาตั้งแต่เด็ก เด็กหนุ่มชาวฮังการีคนนี้ เกิดในปี 1927 ในครอบครัวของชนชั้นล่างของบูดาเปสต์ เมืองหลวงของประเทศ
อย่างไรก็ แม้จะมีชีวิตที่ยากลำบาก แต่มันก็ไม่สามารถหยุดยั้งความรักในฟุตบอลของเขาได้ เพราะมันคือความบันเทิงเพียงแค่ไม่กี่อย่างในวัยเด็กของเขา ที่ทำให้เขามักปรากฎตัวพร้อมกับลูกบอลที่ทำมาจากกระดาษลังหรือกระดาษม้วนเป็นลูกกลมๆเสมอ
“การได้เล่นกีฬาเป็นความสนุกที่สุดสำหรับผมมาตั้งแต่สมัยเด็ก ตอนเด็กๆ บ้านผมมีฐานะยากจนมาก พ่อผมเป็นช่างก่ออิฐ ส่วนแม่ของผมทำงานในโรงงานกระดาษลัง กว่าที่จะเจอพวกเขาก็หลังพระอาทิตย์ตกไปแล้ว” คุบาลากล่าวกับ Clubs Claror เมื่อปี 1998
“ดังนั้น พอผมเลิกเรียน ผมจึงใช้เวลาช่วงบ่ายไปกับการซ้อมฟุตบอล และความจริงพ่อผมเคยเป็นนักฟุตบอลมาก่อน จึงทำให้ผมได้รับการปลูกฝังให้ชอบฟุตบอล”
ว่ากันว่าความคลั่งไคล้ในเกมลูกหนังทำให้แม่ของเขาถึงกับกลุ้มใจ เนื่องจากเป็นห่วงว่าลูกชายตัวดีจะไม่สนใจการเรียน แต่เขาก็พิสูจน์ให้เห็นว่าอันที่จริงผู้ให้กำเนิดไม่ต้องคิดมากขนาดนั้น
เพราะหลังจากนั้น คูบาลา ก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นดาวรุ่งดวงใหม่แห่งวงการฟุตบอลฮังการี หลังถูกส่งลงสนามให้กับ Ganz TE สโมสรในลีกสูงสุดด้วยวัยเพียง 15 ปี ก่อนที่หลังจากนั้น 2 ปีเขาจะก้าวขึ้นไปติดทีมชาติชุดใหญ่ได้สำเร็จ
ความสามารถที่โดดเด่นเกินวัยของเขา ยังทำให้ คูบาลา ถูก เฟเรนซ์วารอส สโมสรยักษ์ใหญ่ในลีกฮังการี กระชากตัวไปร่วมทีม และเขาก็ตอบแทนความเชื่อมั่นด้วยการซัดให้ทีมไปถึง 27 ประตูจาก 49 นัด
อย่างไรก็ดี จุดเปลี่ยนแรกของเขาก็มาถึงในปี 1946 เมื่อพ่อมาเสียชีวิตลง ทำให้เขาต้องย้ายไปอยู่ที่เชโกสโลวาเกีย ซึ่งเป็นบ้านเกิดแม่ และได้ค้าแข้งกับ สโลวาน บราติสลาวา รวมถึงลงเล่นให้กับทีมชาติเชโกสโลวาเกียอีกด้วย
“ตอนที่พ่อของผมตาย ผมต้องย้ายไปอยู่เชโกสโลวาเกียกับแม่ในปี 1946 เขาบอกผมว่าผมต้องเล่นให้ทีมชาติเชโกสโลวาเกียเพราะพ่อแม่ผมมาจากที่นั่น” คุบาลากล่าว
คุบาลา ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเพียง 2 ปี ก็ย้ายกลับมาอยู่ฮังการีในปี 1948 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งยุติลงได้ไม่นาน โดยเขาได้เซ็นสัญญากับ วาซาส เอฟซี และก็ทำผลงานได้ไม่เลว ด้วยสถิติ 10 ประตูจาก 20 เกม
อย่างไรก็ดี การกลับมาฮังการีครั้งนี้ทำให้เขาอึดอัด จนคิดย้ายประเทศ..
หนีจากระบอบอันเลวร้าย
สงครามโลกครั้งที่ 2 คือสงครามที่นำมาซึ่งความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เพราะไม่เพียงมีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากหลายล้านคนแล้ว บางประเทศต้องถูกยึดครอง ไม่ว่าจะทั้งทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม
เช่นเดียวกับฮังการี ที่นอกจากต้องตกอยู่ในสถานะผู้แพ้สงครามจากการอยู่ในฝ่ายอักษะช่วยนาซีเยอรมันรบแล้ว พวกเขายังถูกยึดครองจากสหภาพโซเวียต หลังกรุงบูดาเปสต์แตกในปี 1945
ด้วยเหตุดังกล่าวถึงทำให้อดีตจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่นี้ถูกโซเวียตเข้ามาเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบสตาลินผ่านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ภายใต้การนำของ มาต์ยาส์ ราโกซี ที่โซเวียตตั้งขึ้นมาเป็นหุ่นเชิด
ราโกซี ปกครองประเทศแบบเผด็จการ พร้อมกับพัฒนาลัทธิเชิดชูบุคคลเพื่อสร้างอำนาจให้กับตัวเอง นอกจากนี้ เขายังใช้วิธีกำจัดผู้เห็นต่าง ทั้งจับกุม คุมขัง ไปจนถึงปลิดชีพ ที่ทำให้ประชาชนชาวฮังการีต้องสูญหายหรือเสียชีวิตไปนับแสนราย
นอกจากนี้ เขายังใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อ ด้วยการให้เหล่านักกีฬาออกมาป่าวประกาศถึงคุณงามความดีของระบอบการปกครองของพวกเขา แน่นอนว่า คุบาลา ที่ตอนนั้นกลับมาเล่นให้ทีมชาติฮังการีก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ และมันก็เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เขาตัดสินใจ “หนี” ออกจากประเทศ
“เพราะว่าผมอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ตอนนั้นทางการฮังการีอยากให้นักเตะทีมชาติช่วยโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองให้กับระบอบการปกครอง ผมบอกว่าผมไม่ใช่นักการเมือง ผมเป็นนักกีฬา” คุบาลาอธิบายกับ Clubs Claror
“พ่อผมปลูกฝังผมมาตลอดว่าอย่าเอากีฬาและการเมืองมาผสมกัน เขาบอกผมว่า ‘แกจะเป็นคนที่มีสุขภาพดี จงเล่นกีฬา ด้วยสิ่งนั้นจะทำให้ความคิดและร่างกายตอบสนองได้ดี ทำในสิ่งที่ถูกต้อง และเคารพประชาชน’ มันก็เลยเป็นปัญหา เพราะผมไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเลย ความฝันของผมก็แค่อยากเล่นกีฬาเท่านั้น และพอผมเห็นโอกาสที่จะหนี ผมก็ตัดสินใจเสี่ยงมัน”
ว่ากันว่าที่ที่ดูอันตรายคือที่ที่ปลอดภัยที่สุด และคุบาลาก็เลือกทำแบบนี้ เขาใช้วิธีปลอมตัวเป็นทหารของโซเวียตขึ้นรถบรรทุกข้ามพรมแดนไปทางออสเตรีย จากนั้นก็เดินเท้าผ่านเทือกเขาแอลป์ ท่ามกลางหิมะที่สูงถึงเข่า จนไปถึงสถานทูตของสหประชาชาติเพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัย
“ตอนนั้น หากใครข้ามพรมแดนโดยไม่ได้รับอนุญาต พวกเขาสามารถฆ่าได้ทันที เขาไม่มีการต่อรองใดๆ ฆ่าก็คือฆ่า ผมออกจากฮังการีด้วยการแต่งตัวเป็นทหารแล้วข้ามพรมแดนออกมา คนที่แต่งตัวเป็นทหารจะได้รับการเคารพ เขาจะไม่ถูกถามหาเอกสารใดๆ” อดีตแข้งทีมชาติฮังการีย้อนความหลัง
“พวกเขา (โซเวียต) คือคนที่คุมยุโรปไว้ครึ่งทวีป ผมออกจากฮังการีไปออสเตรีย ก่อนจะถอดเสื้อผ้าออกแล้วมุ่งหน้าไปสถานทูตของสหประชาชาติ พวกเขาให้เราลงทะเบียนและถามชื่อเราแล้วจากนั้นก็ให้เอกสารเรา”
โชคดีที่การขอลี้ภัยของเขาได้รับการรับรอง ทำให้เขาได้ไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในอิตาลี ก่อนที่มันจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งที่ 2 ในชีวิตของเขา
คนชังชาติ
แน่นอนว่าสำหรับค่ายผู้ลี้ภัย ย่อมห่างไกลจากคำว่าสบาย เพราะพวกเขาต้องอยู่กันอย่างแออัด และขาดแคลนระบบสุขอนามัยที่ดี แต่คุบาลาก็พยายามอดทน เพราะมันคือสิ่งที่เขาเลือกเอง และเชื่อว่ามันจะมีสิ่งที่ดีกว่านี้รออยู่
“ในค่ายผู้อพยพมันเป็นหายนะและโหดร้าย ภรรยาและลูกชายของผมยังอยู่ในเชโกสโลวาเกีย แต่ผมอยู่อย่างโดดเดี่ยวในค่ายผู้ลี้ภัยที่กำลังรอคอยและพยายามหาทางแก้ปัญหา” คุบาลาอธิบายกับ Clubs Claror
“ในค่ายผู้ลี้ภัยที่โรมนั้นปกครองโดยอเมริกา คุณต้องรอว่าพวกเขาจะตัดสินใจทำอย่างไรกับคุณ อย่าง จะพาคุณไปไหน เมืองอะไร หรือประเทศไหน เราใช้ชีวิตเหมือนทหาร เราต้องต่อแถวเพื่อรับอาหาร”
แต่คุบาลาก็ใช้เวลาไม่นานในการปรับตัวเข้ากับสถานที่แห่งนี้ ซึ่งสิ่งที่ทำให้เขาผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากนั้นมาได้ก็คือ “ฟุตบอล” กีฬาที่เขารัก เขากลับมาซ้อมและเล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆในค่ายอพยพ
อย่างไรก็ดี ค่ายผู้ลี้ภัยดูเหมือนจะเล็กไปสำหรับฝีเท้าอย่าง คุบาลา เมื่อหลังจากนั้นไม่นาน ชื่อเสียงในความสามารถของเขาก็ดังออกไปไกลนอกค่าย และทำให้เขาได้เซ็นสัญญากับ โปร-ปราเทีย สโมสรในท้องถิ่น และได้ออกไปใช้ชีวิตในโลกภายนอก
“ผมซ้อมตลอด ผมเล่นฟุตบอลในค่ายผู้ลี้ภัย พวกเขาเห็นผมซ้อม และประธานสโมสรของทีมเล็กๆทีมหนึ่งที่ชื่อโปร-พาเทีย มาพาผมไปจากที่นี่ เขารวยมาก เขาพาผมไปที่บ้านของเขา ไปรับภรรยาและลูกของผมที่เชโกสโลวาเกีย และให้เราได้เจอกันที่อิตาลี” คุบาลากล่าว
และเขาก็ตอบแทนความเชื่อมั่นของประธานสโมสรด้วยลีลาการเล่นที่โดดเด่น ทั้งในด้านการยิงประตูและสร้างสรรค์เกม จนไปเข้าตาแมวมองของทีมดังในเซเรียอาอย่าง ยูเวนตุส และ โตริโน และสนใจที่จะดึงตัวไปร่วมทีม
อย่างไรก็ดี เขาก็ต้องฝันสลาย เมื่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์ฮังการีพยายามแทรกแซงเรื่องนี้ พวกเขาสั่งให้สมาคมฟุตบอลฮังการีร้องเรียนไปยังฟีฟ่าว่า คุบาลา คือผู้ทำผิดกฎหมาย ด้วยข้อหาหลบหนีออกจากประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต และทำให้เขาถูกแบนจากฟีฟ่า
ทำให้ในตอนนั้น ไม่ว่าเขาจะได้รับความสนใจจากกี่สโมสร ทีมเล็กหรือทีมใหญ่ ก็ไม่มีใครเซ็นสัญญากับเขาได้ จากความ “ชังชาติ” ที่ถูกรัฐบาลบ้านเกิดกล่าวหา
“ผมได้รับความสนใจจากยูเวนตุสและโตริโน แต่ผมไม่สามารถเซ็นสัญญากับพวกเขาได้ เพราะว่าผมถูกแทรกแซงจากฟีฟ่า จากข้อหาหลบหนีออกจากฮังการีโดยไม่ได้รับอนุญาต” คุบาลากล่าวต่อ
“โตริโน อยากเซ็นผมมาก ผมได้เจอกับประธานและเลขาของสโมสรในอิตาลี ผมถึงขั้นวางแผนที่จะไปทัวร์โปรตุเกสกับพวกเขา ผมกำลังขึ้นเครื่องที่จะไปลิสบอน แต่ประธานของโตริโนบอกผมว่าผมไปไม่ได้ เขาไม่ได้รับอนุญาตจากฟีฟ่า”
ทว่า มันอาจจะเป็นความโชคดีในความโชคร้าย เมื่อการไม่ได้ร่วมทีมไปพร้อมเที่ยวบินนั้น ทำให้เขารอดตาย หลังเครื่องบินที่พานักเตะโตริโนไปโปรตุเกสเกิดอุบัติเหตุชนกับเนินเขาซูเปอร์กาในอิตาลีระหว่างเดินทางกลับ คร่าชีวิตคนบนเครื่องทั้ง 31 คน ที่ประกอบไปด้วยนักเตะถึง 18 คน
“มันก็ทำให้ผมโชคดี พระเจ้าไม่อยากให้ผมเดินทางไปกับพวกเขา พวกเขาออกจากลิสบอนและไม่กลับมาอีกเลย เครื่องบินตกในซูเปอร์กา และลูกเรือเสียชีวิตทั้งลำ”
อย่างไรก็ดี คุบาลา ก็ไม่ยอมแพ้ และพยายามหาวิธีดิ้นรนด้วยตัวเอง จนมันพาเขาไปถึงจุดหมาย
ทัวร์สเปนเปลี่ยนอนาคต
แม้ว่าจะถูกตัดอนาคตจากรัฐบาลในบ้านเกิด จนทำให้โอกาสที่จะได้เซ็นสัญญากับทีมใหญ่ในอิตาลีหลุดลอยไป แต่คุบาลาก็ไม่หมดหวัง เขาเริ่มต้นใหม่ด้วยการก่อตั้งทีมฟุตบอลชื่อว่า ฮังกาเรีย ซึ่งรวบรวมผู้อพยพในค่ายผู้ลี้ภัยมาอยู่ในทีมเมื่อปี 1950
ทีมของไม่ได้มีแต่ชาวฮังกาเรียนเท่านั้น แต่ยังประกอบไปด้วยชาวเช็ก โครเอเชีย และรัสเซีย โดยมี เฟอร์ดินาน เดาซิค พี่เขยของเขา ซึ่งเป็นอดีตกุนซือของ เอสเค บราติสลาวา และทีมชาติเช็กโกสโลวาเกียนั่งตำแหน่งโค้ชใหญ่
เขาตัดสินใจที่จะพาทีมนี้ไปทัวร์สเปนเพื่อระดมทุนให้กับสโมสร และลงเตะนัดกระชับมิตรกับหลายสโมสรที่นั่น รวมไปถึงทีมชาติสเปนที่กำลังเตรียมทีมไปเล่นฟุตบอลโลก 1950 ที่บราซิล
“ที่อิตาลี เราได้ตั้งทีมผู้ลี้ภัยที่ชื่อว่า ฮังกาเรีย ขึ้นมา เฟอร์นันโด เดาซิค พี่เขยของผมมาเป็นโค้ชให้” อดีตแข้งทีมชาติฮังการีย้อนความหลัง
“ด้วยทีมนี้ ทำให้เราได้ไปสเปน และลงเล่นเกมสำคัญกับทีมชาติสเปนที่กำลังจะเดินทางไปเตะฟุตบอลโลกที่บราซิลในปี 1950”
คุบาลา ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในการทัวร์สเปนครั้งนั้น ด้วยการยิงไปได้ 4 ประตู ในการพบกับ เรอัล มาดริด, เอสปันญอล และทีมชาติสเปน จนทำให้เขากลายเป็นนักเตะเนื้อหอมที่หลายทีมจ้องตามเป็นมัน รวมถึง เรอัล มาดริด และบาร์เซโลนา
แต่ก็เป็น บาร์เซโลนา ที่ไวกว่า เมื่อ อกุสติ มอนทัล กาโลบาร์ต ที่ได้เห็นฝีเท้าของเขาด้วยตาตัวเอง และสั่งการไปยัง โจเซฟ ซามิเทียร์ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค ให้รีบไปเซ็นสัญญากับเขาอย่างเร่งด่วน และสามารถตัดหน้า เรอัล มาดริด ได้สำเร็จ
“เด็กคนนี้พิเศษมาก เราปล่อยเขาไปไม่ได้ รีบไปเตรียมสัญญาตอนนี้เลย” ประธานบาร์ซ่า บอกกับ ซามิเทียร์
อย่างไรก็ดี ในตอนนั้น คุบาลายังติดโทษแบนจากฟีฟ่าอยู่ แต่ไม่ใช่ปัญหาสำหรับบาร์เซโลนา แม้ไม่รู้ว่าแท้จริงพวกเขาทำอย่างไร แต่ ESPN ระบุว่า ซามิเทียร์ น่าจะใช้เส้นสายของคนในรัฐบาลนายพล ฟรานซิสโก ฟรังโก กดดันให้ฟีฟ่ายกเลิกโทษแบน
“ซามิเทียร์ ถามผมว่า ‘สถานการณ์ตอนนี้เป็นไงบ้าง?’ ผมบอกว่าผมถูกตัดสิทธิ์อยู่ เขาบอกว่า ‘ไม่ต้องกังวล เดี๋ยวเราจัดการเอง’ เปเป้ (ซามิเทียร์) ให้ผมเซ็นเอกสารที่ผูกมัดผมกับบาร์ซ่า และหนึ่งปีต่อมา ปัญหาของผมก็แก้ได้สำเร็จ และสามารถลงเล่นในสีเสื้อของบาร์ซ่าได้” คุบาลาย้อนความหลัง
และไม่นาน คุบาลา ก็ได้เปิดตัวในฐานะนักเตะอย่างเป็นทางการของบาร์เซโลนา ก่อนที่เขาจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์
นักเตะที่ทำให้บาร์ซ่าสร้างคัมป์นู
ผมบลอนด์ อกผายไหล่ผึ่ง แถมยังเป็นนักเตะที่มาจากค่ายลี้ภัย ทำให้เขาโดดเด่นทันทีตั้งแต่แรกเห็น แต่นั่นไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้เขาได้รับความสนใจ เมื่อนักเตะชาวฮังการีสร้างปรากฎการณ์ได้ตั้งแต่ฤดูกาลแรกในสีเสื้อของบาร์ซ่า
แม้ว่าแชมป์ลีกอาจจะยังไม่มาถึงในตอนแรก แต่ผลงาน 6 ประตูจาก 7 นัดในฟุตบอลถ้วยก็ช่วยให้ทีมคว้าแชมป์ Copa del Generalísimo (หรือ โคปา เดล เรย์ ในปัจจุบัน) ได้สำเร็จ ก่อนที่การลงเล่นเต็มซีซั่นของเขา จะช่วยให้ทีมคว้าได้ถึง 5 แชมป์ในฤดูกาลเดียว รวมไปถึงแชมป์ลาลีกาในฤดูกาล 1951-52
อย่างไรก็ดี หลังจากนั้น เขาเกือบต้องแขวนสตั๊ด หลังถูกหมอสั่งให้เลิกเล่นตั้งแต่อายุ 25 เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรค ซึ่งถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรงในสมัยนั้น แต่หลังจากถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลริมเชิงเขาอยู่นานนับเดือน เขาก็หายกลับมาอย่างน่าอัศจรรย์ แถมยังยิงประตูช่วยให้ทีมคว้าแชมป์ลีกในฤดูกาล 1952–53 ได้อย่างยิ่งใหญ่
คุบาลา มีจุดเด่นทั้งในเรื่องความเร็วและความแข็งแกร่ง รวมไปถึงการเล่นที่ชาญฉลาด ที่ทำให้เขาโดดเด่นทั้งในเรื่องการยิงประตูและสร้างสรรค์เกม นอกจากนี้ เขายังมีทักษะการเล่นที่ไม่เหมือนใคร ทั้งสับขาหลอก หรือคลึงบอลกลับหลัง ที่ราวกับว่าเป็นผู้เล่นจากโลกอนาคต
ในขณะเดียวกัน เขายังเป็นผู้คิดค้นการยิงประตูจากลูกฟรีคิกโดยตรง เนื่องจากก่อนหน้านั้นไม่มีใครอาจหาญยิงบอลผ่านกำแพงมนุษย์ แต่การมาถึงของคุบาลา ก็ทำให้ผู้เล่นคนอื่นมองเห็นความเป็นไปได้ จากการเห็นเขาปั่นบอลผ่านกำแพงเสียบสามเหลี่ยมเข้าไป
แน่นอนว่าลีลาการเล่นที่ตื่นตาเหล่านี้ สามารถดึงดูดแฟนบอลมาชมเกมในสนาม Les Corts รังเหย้าเก่าของบาร์ซ่าได้อย่างล้นหลามและมากเกินไป จนทำให้ยอดทีมแห่งแคว้นคาตาลุนญาตัดสินใจสร้างสนามใหม่เพื่อรองรับแฟนบอลจำนวนมหาศาลที่ชื่อว่า “คัมป์ นู”
ตลอด 11 ปีในสีเสื้อของบาร์ซา คุบาลาทำผลงานได้อย่างไม่มีที่ติ เมื่อซัดให้ทีมไปถึง 280 ประตูจาก 345 เกม และช่วยให้ทีมคว้าโทรฟีมาประดับตู้โชว์ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้ง แชมป์ลาลีกา 4 สมัย, Copa del Generalísimo 5 สมัย, อินเตอร์ ซิตี แฟร์ส คัพ 2 สมัย รวมไปถึงรองแชมป์ยูโรเปียน คัพ อีก 1 สมัย
นอกจากนี้ เขายังเป็นเจ้าของสถิติยิงประตูมากที่สุดในนัดเดียว หลังยิงคนเดียว 7 ลูกในเกมถล่มสปอร์ติง กิฆอน 9-0 ในฤดูกาล 1951-52 แถมยังมีโอกาสลงรับใช้ทีมชาติสเปนไปถึง 19 นัด และฝากผลงานไว้ที่ 11 ประตู เช่นกันกับทีมชาติคาตาลัน ที่ซัดไป 4 ประตูจาก 4 เกม
“คุบาลา เป็นรากฐานอันนำมาซึ่งการเติบโตของฟุตบอลในคาลาโตเนีย” โจเซฟ ซามิเทียร์ อดีตกุนซือของบาร์เซโลนาอธิบาย
“การมีเขาและ ดิ สเตฟาโน (ของ เรอัล มาดริด) ในเวลาต่อมา ทำให้ฟุตบอลกลายเป็นโอเปรา”
หลังจากพ้นร่มเงาของบาร์ซ่า คุบาลายังได้ค้าแข้งกับ โตรอนโต ซิตี้ (แคนาดา) และรับงานผู้เล่น-ผู้จัดการทีมกับ เอสปันญอล, เอฟซี ซูริก (สวิตเซอร์แลนด์) และ โตรอนโต ฟอลคอนส์ (แคนาดา) ก่อนจะประกาศแขวนสตั๊ดในปี 1967 ด้วยวัย 40 ปี
โดยหลังจากนั้น เขาได้มีโอกาสคุมทีมดังมากมาย ทั้งทีมชาติสเปน, บาร์เซโลนา ทีมเก่า, อัล ฮิลาล, มาลากา รวมทีมทีมชาติสเปนชุดโอลิมปิก และมีทีมชาติปารากวัยเป็นทีมสุดท้ายก่อนวางมือในปี 1995
แม้เขาจะอำลาโลกไปตั้งแต่ปี 2002 ด้วยวัย 74 ปี แต่สิ่งที่เขาสร้างขึ้นนั้นมีคุณค่าอย่างมหาศาลสำหรับบาร์เซโลนา และได้รับการยกย่องในฐานะหนึ่งในไอคอนของบาร์ซ่า และมีรูปปั้นอยู่หน้าสนามคัมป์ นู
แน่นอนว่าจุดเริ่มต้นของเรื่องราวเหล่านี้ นอกจากความคิด “กล้าคิด กล้าทำ” ของเขา อีกส่วนหนึ่งคือความพยายามที่จะพาตัวเองออกมาจากระบอบที่โหดร้าย
เพราะแท้จริงไม่มีใครรู้หรอกว่าการตัดสินใจบางอย่างจะมีผลอย่างไรต่อไป มันอาจจะทำให้ชีวิตดีขึ้น หรือเลวร้ายลงกว่าเดิม แต่สิ่งสำคัญคือการมุ่งมั่นต่อเป้าหมายนั้นมีมากแค่ไหน และสิ่งนี้ก็จะเป็นตัวตัดสินอนาคตของเรา เหมือนที่ คุบาลา ได้พิสูจน์ให้เห็น
“ผมไม่รู้หรอกว่าในตอนนั้นมันคือการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดในชีวิต แต่แน่นอน มันอันตรายที่สุด มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องตัดสินใจ ผมไม่รู้ว่าผมมีโชคหรือผมกล้าพอ แต่มันก็เป็นสิ่งที่ผมแน่วแน่กับมัน และสุดท้ายผมก็โชคดี” คุบาลากล่าว