ร้อยปียังหวานอยู่ พบ “เศษขนม” ในชุดกระโปรงสุ่มของ “พี่สาว” ซาร์รัสเซียองค์สุดท้าย

Home » ร้อยปียังหวานอยู่ พบ “เศษขนม” ในชุดกระโปรงสุ่มของ “พี่สาว” ซาร์รัสเซียองค์สุดท้าย


ร้อยปียังหวานอยู่ พบ “เศษขนม” ในชุดกระโปรงสุ่มของ “พี่สาว” ซาร์รัสเซียองค์สุดท้าย

ร้อยปียังหวานอยู่ – เดลีเมล รายงานการค้นพบเศษขนมหวานที่เรียกว่า “ฟัดจ์” (Fudge) ขนาดเท่ากับก้อนกรวด ในชุดกระโปรงสุ่ม ฉลองพระองค์ใน แกรนด์ดัชเชสเซเนีย อเล็กซานดรอฟนา — พระเชษฐภคินี (พี่สาว) ในจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งรัสเซีย — เมื่อ 118 ปีที่แล้ว

แกรนด์ดัชเชสเซเนียทรงฉลองพระองค์ในชุดกระโปรงสุ่มแขนยาวสีเบจไปงานเลี้ยงเต้นรำ เมื่อปี 2443 เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 290 ปีแห่งราชวงศ์โรมานอฟ ที่พระราชวังฤดูหนาว ในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

น.ส.กาลีนา ฟโยโดโรวา ผู้เชี่ยวชาญการฟื้นฟูวัตถุโบราณ ที่พิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจ ของนครเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก ทางเหนือของรัสเซีย เป็นผู้ค้นพบเศษขนมฟัดจ์ในแขนชุดกระโปรง จากการซ่อมแซมชุดกระโปรงสุ่มมาเป็นเวลาหลายเดือน

น.ส.ฟโยโดโรวาโพสต์วิดีโอลงบัญชีอินสตาแกรทของพิพิธภัณฑ์ ระบุว่า “ฉันแยกแขนข้างหนึ่งชุดกระโปรงและมันสมบูรณ์แบบ ฉันจึงลองยกอีกข้างและเย็บขึ้นมา” และว่า ตอนแรก พยายามสอดแขนเข้าไปในแขนชุดกระโปรง แต่มือของเธอสั้นเกินไป

ต่อมา เศษขนมฟัดจ์หล่นลงมาในมือ หลังเธอดึงด้ายและนำเข้าปากด้วยสัญชาติญาณ “ด้วยเหตุผลบางอย่าง ฉันคิดว่าอาจมีสัญชาตญาณโบราณเข้ามา ฉันนำเข้าปากและเลียเศษขนมฟัดจ์เล็กน้อย และมีรสชาติหวาน” น.ส.ฟโยโดโรวาระบุ

ต่อมา เศษขนมฟัดจ์ชิ้นนี้ถูกนำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ และพบไม่มีการปนเปื้อนไวรัสหรือเชื้อรา

น.ส.ฟโยโดโรวากล่าวว่า แกรนด์ดัชเชสอาจแอบเสวยของหวาน เนื่องจากทรงหิวก่อนพระกระยาหารเที่ยงจะเสิร์ฟ ซึ่งเป็นเมนูอาหารฝรั่งเศส และคิดว่าพระนางทรงซุกซ่อนในแขนสุดชุดกระโปรงเพราะไม่มีที่อื่นดีกว่านี้ที่จะทิ้งเศษของหวานออกไป

ทั้งนี้ ในงานงานเลี้ยงเต้นรำ แขกประมาณ 400 คนเข้าร่วม หลายคนสวมเครื่องแต่งกายวิจิตรสมัยศตวรรษที่ 17 ประดับประดาด้วยขน อัญมณี และเพชรพลอย

ถือเป็นงานเลี้ยงเต้นรำราชวงศ์ยิ่งใหญ่ครั้งสุดท้ายของยุโรป เนื่องจาก 14 ปีต่อมา ซาร์นิโคลัสที่ 2 สละราชบัลลังก์ จากการปราชัยในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น เมื่อปี 2447 เกิดความตึงเครียดอย่างรุนแรง และนำมาสู่การปฏิวัติรัสเซียในปี 2460

ส่วนแกรนด์ดัชเชสเซเนียทรงหนีไปแหลมไครเมียเมื่อปี 2461 หลังซาร์นิโคลัสที่ 2 และราชวงศ์ ถูกสังหาร จากนั้น แกรนด์ดัชเชสทรงลี้ภัยไปอังกฤษ และประทับที่นั่นจนสิ้นพระชนม์ด้วยวัย 85 ปี ในบ้านที่พระราชวังแฮมป์ตันคอร์ตในปี 2503

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ประมูลเครื่องเพชรราชวงศ์โรมานอฟ ลอบนำออกจากรัสเซียในช่วงปฏิวัติ 1917

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ