รู้ไว้ดีกว่า! "น้ำท่วม" โดนแล้วรู้สึกคับยิบๆ แปลว่ามี "ไฟฟ้ารั่ว" ต้องรีบถอยออกมาจริงไหม?

Home » รู้ไว้ดีกว่า! "น้ำท่วม" โดนแล้วรู้สึกคับยิบๆ แปลว่ามี "ไฟฟ้ารั่ว" ต้องรีบถอยออกมาจริงไหม?
รู้ไว้ดีกว่า! "น้ำท่วม" โดนแล้วรู้สึกคับยิบๆ แปลว่ามี "ไฟฟ้ารั่ว" ต้องรีบถอยออกมาจริงไหม?

อ.เจษฎ์ ตอบแล้ว “น้ำท่วม” โดนแล้วรู้สึกคับยิบๆ แปลว่ามี “ไฟฟ้ารั่ว” ต้องรีบถอยออกมาจริงไหม?

วันที่ 12 ตุลาคม 2567 ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ให้ความรู้ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ในประเด็นที่น่าสนใจเรื่อง “ไฟรั่วในน้ำ จะรู้สึกคับยิบๆ จริงหรือ?”

โดยระบุว่า “เป็นเรื่องจริง” และเป็นไปตามคำแนะนำของ ผศ.ดุสิต สุขสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่เคยให้ไว้ในรายการไม่ตายหรอกเธอ ตอน “น้ำท่วมอ่วมเลยพี่” ทางสถานีโทรทัศน์

ซึ่งในรายการได้แนะนำเอาไว้ว่า ถ้าน้ำท่วมเข้าบ้าน สิ่งแรกที่ควรจะต้องทำคือ ตรวจสอบว่าไฟฟ้าจากมิเตอร์นั้นเดินสายเข้ามาในบ้านเราทางไหน? ซึ่งปรกติไฟฟ้าจะเดินสายเข้ามาทางชั้น 1 ของบ้าน และจะเป็นอันตรายจากไฟดูด ขณะน้ำท่วมปลั๊กไฟได้ ดังนั้น ในพื้นที่ที่น้ำท่วมบ่อย ท่วมซ้ำซาก ก็ควรจะต้องเดินไฟเข้าทางชั้น 2 เลยแล้วค่อยเดินสายลงมาชั้น 1 จะปลอดภัยกว่า

จากนั้น ทางรายการก็ได้ทำสถานการณ์สมมติที่ 1 โดยให้มีปลั๊กไฟสายพ่วงจมน้ำอยู่ และมีไฟฟ้ารั่วอยู่ พบว่า ถ้าแหย่มือลงไปในน้ำใกล้บริเวณปลั๊กนั้น ห่างประมาณ 1-2 เมตร จะรู้สึกว่าเหมือนมีไฟฟ้ารั่วอยู่ รู้สึกคันๆ ยิบๆ (ไม่ได้รู้สึกเจ็บ)

ดังนั้น ถ้าเดินแช่น้ำท่วม แล้วเกิดอาการยิบๆ ขึ้นมา แสดงว่าข้างๆ ไม่ไกลนัก 1-2 เมตร มีอุปกรณ์ที่มีไฟฟ้ารั่วอยู่ ให้เดินถอยกลับไปทิศที่เดินมา อย่าพยายามฝืนเดินไปข้างหน้าต่อไป การสัมผัสโลหะในช่วงน้ำท่วม ให้เอาหลังมือเข้าไปแตะ เพราะถ้าโดนไฟดูด มือจะกำเข้า เส้นเอ็นที่มือจะล็อกกำไว้ ถ้าเกิดไปจับโลหะที่มีไฟรั่ว ก็จะทำให้มือดึงไม่ออก

  • อ.เจษฎ์ เบรกวิธี “ถีบ” ช่วยคนถูกไฟฟ้าดูด เตือนเสี่ยงเกินไป แนะอีกวิธีสำเร็จใน 5 วินาที
  • ทุกบ้านควรรู้! อ.เจษฎ์ ตอบแล้ว ก๊าซหุงต้มยี่ห้อดัง เปลวไฟเป็น “สีเขียวสด” อันตรายไหม?

หลังน้ำท่วม มักตามมาด้วยเหตุเพลิงไหม้ เนื่องจากเหล็กในอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เคยแช่น้ำ จะเสื่อมสภาพ นำไฟฟ้าไม่ดี ไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม เวลานำกลับมาใช้จะเกิดความร้อน พวกเต้ารับของปลั๊กไฟมักจะเกิดความร้อนขึ้นกลายเป็นเพลิงไหม้ได้ ดังนั้น หลังจากน้ำท่วมแล้ว ควรตัดใจทิ้ง อุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดที่เคยแช่น้ำแล้ว

ถ้ามีเก้าอี้เหล็กจมอยู่ในน้ำ ซึ่งถึงแม้ว่าเก้าอี้จะไม่มีไฟฟ้าในตัวเอง แต่สนามไฟฟ้า ในยามน้ำท่วม มันสามารถเหนี่ยวนำได้โดยใช้น้ำเป็นตัวนำ ถ้ามีไฟฟ้ารั่ว (เช่นจากปลั๊กต่อสายพ่วง) อยู่ใกล้กับเก้าอี้เหล็ก บันไดเหล็ก ฯลฯ ก็จะส่งสนามไฟฟ้าไปให้ได้ สังเกตเห็นเป็นฟองอากาศ ลอยขึ้นมา ดังนั้น ถ้าเราไปปีนหรือสัมผัสวัสดุอุปกรณ์ที่ทำจากเหล็กและแช่ในน้ำ แล้วอยู่ใกล้กับไฟฟ้าที่รั่วออกมา ก็อาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ทั้งที่ไม่ได้มีไฟฟ้าอยู่ในเหล็กนั้นโดยตรง จึงควรหลีกเลี่ยงการจับโลหะต่างๆ ไม่ว่าจะ เหล็ก อลูมิเนียม สังกะสี ฯลฯ ระหว่างที่น้ำท่วม

นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ติดตั้งเครื่อง earth leakage braker (ELCB) เบรกเกอร์สำหรับตัดไฟเวลาไฟรั่ว โดยเมื่อน้ำท่วมปลั๊กไฟ จนมีไฟรั่วมากพอ เบรกเกอร์ก็จะทำการตัดไฟ โดยสามารถใช้ ELCB ตัวขนาดใหญ่ 30 มิลลิแอมป์ ติดคุมไฟบ้านทั้งหมดที่มาจากมิเตอร์ และสามารถติดตั้งหลายตัว เพื่อตัดแยกไฟฟ้าเป็นโซนๆ ในบ้าน (เช่น แยกชั้น 1 กับชั้น 2 )

ส่วนการแต่งกายเพื่อป้องกันตนเองจากไฟฟ้ารั่วขณะน้ำท่วม ทำได้โดยการใส่รองเท้าบู้ตยาง ถุงมือหนังหรือถุงมือยางหนาๆ สนามไฟฟ้าไม่สามารถผ่านรองเท้ายางมาได้ แล้วเวลาเดินลุยน้ำท่วม

  1.  ให้หลีกเลี่ยงวัตถุขนาดใหญ่ เช่น รั้ว เสาไฟ รถเข็น ตู้โทรศัพท์
  2.  ห้ามสัมผัสกับวัตถุที่เป็นเหล็ก
  3.  ถ้าเดินแล้วรู้สึกแสบคัน ให้เดินถอยกลับมาทางเดิมทันที (เพิ่มเติมว่า ควรเดินแบบเท้าชิดๆ กัน เพื่อลดแรงดันไฟฟ้าช่วงก้าว ที่ยิ่งก้าวห่าง ไฟฟ้าระหว่างขาทั้ง 2 ข้างนั้นจะยิ่งแรงขึ้น)

สำหรับเครื่องปั่นไฟนั้น ไม่เหมาะกับสถานการณ์น้ำท่วม ควรใช้แผงโซลาเซลล์ และเปลี่ยนระบบไฟฟ้าของอุปกรณ์เครื่องใช้ ให้เป็นไฟฟ้ากระแสตรง DC 12 โวลต์ จะปลอดภัยกว่า

นอกจากนี้ ยังได้แนะนำถึงการเตรียมสิ่งของต่างๆ ไว้ใช้ เมื่อรู้ว่าจะเข้าสู่ช่วงเกิดภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม นี้ โดยควรจะเตรียม รองเท้าบู้ต เทียนไข (ระวังไฟไหม้ด้วย) น้ำสะอาด ขนม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โลชั่นกันยุง ยาประจำตัว ยาสามัญประจำบ้าน ผ้าอนามัย สบู่ ไฟฉาย ไฟฟ้าโซล่าเซลล์ (ร่วมกับแบตเตอรี่รถยนต์) ฯลฯ รวมถึงถุงขยะด้วย

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ