การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินเป็นเรื่องที่นักการเมืองที่จะเข้าสู่ตำแหน่งหรือลาเก้าอี้ไปต้องทำ เพื่อให้แน่ใจว่าตลอดเวลาที่อยู่ในตำแหน่งนั้นไม่ได้ใช้อำนาจตักตวงประโยชน์เข้าตัวเอง
แล้วทรัพย์สินอะไรบ้างที่พวกเขาจะต้องแสดงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาสำรวจกันเลย
ทรัพย์สินที่นักการเมืองต้องแสดงบัญชี
รายการทรัพย์สินเหล่านี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ ทรัพย์สิน และหนี้สิน โดยทรัพย์สินแบ่งเป็น 9 รายการ และหนี้สินแบ่งออกเป็น 4 รายการ ดังนี้
- ทรัพย์สิน
- รายการเงินสด
- รายการเงินฝาก
- รายการเงินลงทุน
- รายการเงินให้กู้ยืม
- รายการที่ดิน
- รายการโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง
- รายการยานพาหนุ
- รายการสิทธิและสัมปทาน
- รายการทรัพย์สินอื่น
- หนี้สิน
- รายการเงินเบิกเกินบัญชี
- รายการเงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่น
- รายการหนี้สินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ
- รายการหนี้สินอื่น
รายการทรัพย์สินเหล่านี้ รวมของชื่อคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย
ทรัพย์สินอื่น คืออะไร?
แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้น คือ รายการทรัพย์สินอื่น ที่อ่านแว้บแรกอาจจะยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไรกันแน่
ป.ป.ช. ระบุว่า ทรัพย์สินอื่น หมายถึง ทรัพย์สินอื่นของผู้ยื่น คู่สมรสม และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะแต่ละรายการนอกจากที่ระบุในรายการที่ 1-8 ทั้งยังแยกทรัพย์สินอื่นเป็นประเภทได้ ดังนี้
- อัญมณี เครื่องประดับ มูลค่ารวมกันตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป
- ทองคำ มูลค่ารวมกันตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป
- อาวุธปืน มูลค่ารวมกันตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป
- นาฬิกา มูลค่ารวมกันตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป
- งานศิลปะ โบราณวัตถุ พระเครื่อง พระบูชา หรือวัตถุมงคล มูลค่ารวมกันตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป
- ทรัพย์สินอื่นนอกจากประเภททรัพย์สินอื่น 1-5 ที่มีมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป