หากเราเป็นลูกจ้างที่ไม่เต็มใจย้ายสถานที่ตามบริษัทควรทำอย่างไร หรือหากเป็นนายจ้างแล้วต้องการย้ายสถานที่ มีขั้นตอนอย่างไร วันนี้มีคำตอบ
หลายๆคนอาจบอกว่า ไม่เลือกงานไม่ยากจน แต่แท้จริงแล้ว เราทุกคนควรมีสิทธิ์เลือกงานที่ตัวเองอยากทำ เพื่อให้ชีวิตมีความสุขและผลของการทำงานมีประสิทธิภาพที่ดีมากขึ้น และแน่นอนทุกงานต้องมีปัญหาเฉพาะด้านในตัวของมันเอง อาจเป็นสิ่งที่เราแก้ได้หรือไม่ได้ก็ต้องดูตามสถานการณ์อีกที
แต่สำหรับปัญหาที่พบกันอยู่บ่อยๆ นั้นก็คือ บริษัทต้องการย้ายสถานที่ประกอบการ แต่ลูกจ้างไม่ต้องการย้ายตามแบบนี้ ทางบริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ คำตอบก็คือ
กรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบการไปตั้ง ณ ที่แห่งใหม่ หรือย้ายไปที่อื่น สรุปข้อกฎหมายสั้น ๆ ให้ฟัง เบื้องต้นกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้อง
๑) “ปิดประกาศ”ให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า ๓๐ วันก่อนย้ายสถานประกอบกิจการโดยต้องมีข้อความชัดเจน
-ลูกจ้างคนไหนต้องถูกย้ายบ้าง ต้องปิดประกาศรายชื่อ
-ย้ายไปสถานที่ใด ต้องบอกว่าที่ใหม่อยู่ที่ไหน
-ย้ายไปเมื่อใด ต้องบอกวันที่ที่จะย้าย
๒) ถ้าไม่ปิดประกาศให้ลูกจ้างทราบ หรือประกาศแต่มีรายละเอียดไม่ครบตามที่กล่าวมาข้างต้น จะต้องจ่ายค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า(ค่าตกใจ) ๓๐ วัน แก่ลูกจ้างที่ไม่ประสงค์จะไปทำงาน ณ สถานประกอบกิจการแห่งใหม่ด้วย
๓) กรณีลูกจ้างเห็นว่าการย้ายมีผล “กระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของของตนหรือครอบครัว” และไม่ประสงค์จะไปทำงาน ณ สถานประกอบกิจการแห่งใหม่ ต้องแจ้งให้นายจ้างทราบเป็นหนังสือภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ปิดประกาศ หรือนับแต่วันที่ย้ายสถานประกอบกิจการในกรณีที่นายจ้างไม่ปิดประกาศ ให้ถือว่าสัญญาจ้างสิ้นสุดในวันย้ายสถานประกอบกิจการให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายมาตรา ๑๑๘ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าทำงานมานานเพียงใด
๔) หากนายจ้างไม่เห็นพ้องด้วยตามที่ลูกจ้างอ้างว่า การย้าย มีผล “กระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของของตนหรือครอบครัว” นายจ้างก็สามารถยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานภายใน ๓๐ วันเพื่อให้คณะกรรมการวินิจฉัย
คำว่า“กระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของของตนหรือครอบครัว” หมายความว่าการย้ายนั้น อาจทำให้ลูกจ้างต้องย้ายไปที่ใหม่ที่ไกล ทำให้ต้องย้ายครอบครัว หรือต้องแยกกับครอบครัวซึ่งหากลูกจ้างย้าย ภรรยาอาจต้องออกจากงานที่เดิม ลูกอาจต้องย้ายที่เรียน หรือการย้ายที่ทำให้ลูกจ้างต้องจากครอบครัว ไปทำงาน ณ ที่ใหม่ ทำให้เพิ่มภาระค่าใช้จ่าย เช่น ค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน ค่าพาหนะ หรือการย้ายนั้นต้องทำให้ลูกจ้างต้องเดินทางไกลจากเดิมมากน้อยเพียงใด การคมนาคมสดวกหรือไม่