Highlight
- มาตรา 272 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ประกอบไปด้วย 2 วรรค โดยวรรคแรกกำหนดให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้ง 250 คน สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้ ส่วนวรรคสองนั้นเป็นการเปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรี “คนนอก” บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งก่อนการเลือกตั้งได้
- การปิดสวิตช์ ส.ว. เป็นเรื่องที่หลายกลุ่มการเมืองเห็นพ้องกันว่าควรต้องได้รับการแก้ไข เนื่องจากการปล่อยให้ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถ “ยกมือเลือกนายกฯ” ได้ ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย โดยมีความพยายามที่จะยื่นข้อเสนอปิดสวิตช์ ส.ว. ไปแล้วถึง 6 ครั้ง แต่ ส.ว. ก็ไม่เคยให้ผ่านเลยสักครั้งเดียว
- ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ “ใกล้จะถึงฝั่งฝัน” มากที่สุด คือ ข้อเสนอของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ยื่นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่ครั้งนั้นมี ส.ว. ทั้งหมด 53 คนลงคะแนนเห็นชอบตัดอำนาจตัวเอง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผ่านวาระแรกไปได้
เสร็จสิ้นไปแล้วกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบแรก เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งผลที่ออกมาก็คือ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ยังไม่ผ่านการโหวตเลือกให้เป็นนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศ โดยประเด็นร้อนที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนทั่วไปในตอนนี้ คือการโหวต “งดออกเสียง” ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และต่อมาก็ได้มีความเคลื่อนไหวจากพรรคก้าวไกล ที่เตรียมพร้อมจะยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ ม.272 หรือ “การปิดสวิตช์ ส.ว.” เนื่องจากมี ส.ว. จำนวนมากที่ดูจะกระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สิทธิในการโหวตเลือกนายกฯ ทำให้ต้องงดออกเสียงและไม่มาประชุมโดยตั้งใจเยอะมาก
AFP
การปิดสวิตช์ ส.ว. ด้วยการยื่นร่างแก้ไข ม.272 ไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีความพยายามหลายครั้งที่จะลดอำนาจของ ส.ว. แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ Sanook พาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ม.272 และย้อนดูความพยายามของภาคส่วนต่าง ๆ ที่จะร่วมกันปิดสวิตช์ ส.ว. เพื่อให้ประเทศไทยได้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
- สรุปผลโหวตนายก “พิธา” รอบแรกไม่ผ่าน เห็นชอบ 324 เสียง งดออกเสียงเพียบ
- ด่วน! ก้าวไกล เตรียมยื่นแก้ ม.272 ปิดสวิตช์ ส.ว.มีอำนาจโหวตนายกรัฐมนตรี
- ปิดสวิตช์ของเราไม่เท่ากัน: ว่าด้วยการ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” และการโหวตนายกฯ
ม.272 คืออะไร
ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 272 ระบุว่า
“มาตรา 272 ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเป็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 99 ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด และสมาชิกทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนี้ ให้ประธานสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้”
AFP
กล่าวให้เข้าใจง่ายคือ มาตรา 272 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ดังกล่าว ประกอบไปด้วย 2 วรรค โดยวรรคแรกกำหนดให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้ง 250 คน สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้ ส่วนวรรคสองนั้นเป็นการเปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรี “คนนอก” บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งก่อนการเลือกตั้งได้
อำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี
ในกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 ระบุให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเห็นชอบนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอก่อนการเลือกตั้ง โดนต้องเป็นแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคที่มี ส.ส. ไม่น้อยกว่า 25 ที่นั่ง และมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 50 เสียง เช่น มีจำนวน ส.ส. ในสภาทั้งหมด 500 คน ผู้ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องได้รับเสียงจาก ส.ส. อย่างน้อ 251 เสียง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม มาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ระบุว่า ผู้จะได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องมีคะแนนเสียง “มากกว่ากึ่งหนึ่ง” ของจำนวนสมาชิกทั้ง 2 สภา (ส.ส. และ ส.ว.) หรือแปลว่า คนที่จะได้เป็นนายกฯ ต้องได้อย่างน้อย 376 เสียง จากจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา จำนวน 750 คน แต่การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบแรกเมื่อวานนี้ (13 กรกฎาคม 2560) ก็แสดงให้เห็นว่า ส.ว. ไม่ทำตามเสีนงของประชาชนส่วนใหญ่ โดยเลือก “งดออกเสียง” เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้มีการหยิบยกเรื่อง “การแก้ไขมาตรา 272” เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. กลับมาพูดคุยและถกเถียงกันอีกครั้ง
ยื่นปิดสวิตช์ ส.ว. 6 ครั้ง โดนล่มทั้ง 6 ครั้ง
การปิดสวิตช์ ส.ว. เป็นเรื่องที่หลายกลุ่มการเมืองเห็นพ้องกันว่าควรต้องได้รับการแก้ไข เนื่องจากการปล่อยให้ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถ “ยกมือเลือกนายกฯ” ได้ ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย โดยมีความพยายามที่จะยื่นข้อเสนอปิดสวิตช์ ส.ว. ไปแล้วถึง 6 ครั้ง แต่ ส.ว. ก็ไม่เคยให้ผ่านเลยสักครั้งเดียว แม้ข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับเสียงโหวตเกินครึ่งของรัฐสภาแล้วก็ตาม
AFP
ข้อเสนอปิดสวิตช์ ส.ว. 5 ครั้งแรก เสนอให้ตัด ม.272 ทั้งมาตรา หรือยกเลิกอำนวจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ และกลไกที่จะทำให้มี นายกฯ คนนอก แต่ก็มีความแตกต่างกันในรายละเอียดการแก้ไข ม.159 ในขณะที่การยื่นข้อเสนอปิดสวิตช์ ส.ว. ครั้งที่ 6 ของกลุ่ม No 272 เสนอให้ตัดเพียงวรรคแรกของ ม.272 คือให้ตัดอำนาจ ส.ว. แต่งตั้ง ในการเลือกนายกฯ เท่านั้น
แต่ไม่ว่าจะมีข้อเสนออย่างไร ส.ว. ก็ยัง “ทำหน้าที่” ของตัวเองอย่างแข็งขัน โดยในรัฐธรรมนูญ 2560 วางกลไกให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งในที่ประชุมรัฐสภารวมกันของ ส.ส. และ ส.ว. พร้อมระบุด้วยว่าต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. อย่างน้อย 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง หรืออาจกล่าวได้ว่า หาก ส.ว. ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอใด ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านไปได้ ซึ่งในการยื่นข้อเสนอปิดสวิตช์ ส.ว. ทั้ง 6 ครั้งที่ผ่านมา ก็ไม่เคยได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. เกิน 1 ใน 3
ทั้งนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ “ใกล้จะถึงฝั่งฝัน” มากที่สุด คือ ข้อเสนอของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ยื่นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่ครั้งนั้นมี ส.ว. ทั้งหมด 53 คนลงคะแนนเห็นชอบตัดอำนาจตัวเอง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผ่านวาระแรกไปได้ แต่หลังจากนั้น ก็มี ส.ส. จำนวนมากที่เปลี่ยนใจ ไม่ตัดอำนาจเลือกนายกฯ ของตัวเอง ทำให้เสียงของ ส.ว.ในการโหวตข้อเสนอปิดสวิตช์ ส.ว. มีจำนวนน้อยลง แม้ว่า ส.ส. จากพรรคการเมืองจะร่วมกันโหวตอย่างท่วมท้นก็ตาม