รู้ช้าอันตรายถึงชีวิต รู้จัก "อหิวาตกโรค" โรคติดต่อระบาด หลัง “แต้ว ณฐพร” แอดมิต

Home » รู้ช้าอันตรายถึงชีวิต รู้จัก "อหิวาตกโรค" โรคติดต่อระบาด หลัง “แต้ว ณฐพร” แอดมิต



รู้ช้าอันตรายถึงชีวิต ทำความรู้จัก “อหิวาตกโรค” โรคติดต่อระบาด จากเชื้อแบคทีเรีย หลัง “แต้ว ณฐพร” แอดมิต รพ.นาน 4 วัน ท้องร่วง ร่างกายขาดน้ำ อาเจียน หมดแรง

จากกรณีนางเอกดัง “แต้ว ณฐพร เตมีรักษ์” ป่วยหนัก แอดมิต โรงพยาบาล นานถึง 4 วัน หลังจากวินิจฉัยแล้วแพทย์ระบุว่าเป็น “อหิวาตกโรค” ซึ่งปัจจุบันสาวแต้วก็ได้ออกจากโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว นับว่าโชคดีที่ถึงมือหมอไวไม่เช่นนั้นอาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

ทำความรู้จัก อหิวาตกโรค (Cholera) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหารจากแบคทีเรียชนิดเฉียบพลัน

อาการเบื้องต้นของอหิวาตกโรค (Cholera) จะเกิดอาการได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมงถึง 5 วัน แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะเกิดอาการภายใน 1-2 วัน ดังนี้

  • ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำอย่างมากโดยไม่มีอาการปวดท้อง
  • บางรายอุจจาระขาวขุ่นเหมือนน้ำซาวข้าว
  • บางครั้งมีคลื่นไส้
  • อาเจียน
  • สูญเสียน้ำอย่างรวดเร็วจนเกิดภาวะเป็นกรดในเลือด
  • การไหลเวียนโลหิตล้มเหลว

สำหรับเชื้อโรคอุจจาระร่วงอย่างแรง(อหิวาตกโรค) ชนิด El Tor biotype ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการเลยก็ได้ ในรายรุนแรงน้อยอาจพบแต่อาการถ่ายเป็นน้ำ ซึ่งโรคนี้พบได้บ่อยในเด็ก โดยรายที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยอาจตายในเวลา 2-3 ชั่วโมง

สาเหตุและวิธีการติดต่อ อหิวาตกโรค (Cholera)

1.ติดต่อโดยการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้ออหิวาตกโรค หรือพิษของเชื้ออหิวาตกโรคปะปนอยู่ เชื้อ El Tor สามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำได้เป็นเวลานาน

2.กินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้ออหิวาตกโรค หรือพิษของเชื้ออหิวาตกโรคปะปนอยู่ เช่น อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารกระป๋องที่เสียแล้ว

3.การติดต่อระหว่างบุคคลสู่บุคคลโดยตรง พบได้น้อยมาก

ระยะฟักตัว อหิวาตกโรค (Cholera)

ตั้งแต่ 2-3 ชั่วโมง ไปจนถึง 5 วัน เฉลี่ยประมาณ 2-3 วัน

ระยะติดต่อ อหิวาตกโรค (Cholera)

ตลอดระยะเวลาที่ตรวจพบเชื้อในอุจจาระ ซึ่งปกติจะพบเชื้อได้อีก 2-3 วัน หลังจากผู้ป่วยอาการดีขึ้นแล้ว แต่บางรายอาจกลายเป็นพาหะต่อไปได้อีกหลายเดือน การให้ยาปฏิชีวนะ เช่น tetracycline จะช่วยลดระยะเวลาการแพร่เชื้อ ในผู้ใหญ่พบว่าการติดเชื้อเรื้อรังที่ทางเดินน้ำดี อาจเป็นได้นานเป็นปี และร่วมกับมีการปล่อยเชื้อ Vibrio ออกมากับอุจจาระเป็นระยะได้

การรักษา อหิวาตกโรค (Cholera)

1. ให้สารน้ำทดแทนทางปาก หรือเส้นเลือดดำ ถ้าผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง และไม่อาเจียน อาจให้กินน้ำต้มสุกที่ละลายน้ำตาลและเกลือสำหรับผู้ท้องร่วง ถ้าเป็นรุนแรง ต้องให้น้ำเกลือจำนวนมากเข้าเส้นเลือด ถ้าเลือดมีภาวะเป็นกรดต้องแก้ไขภาวะดุลกรดด่างของร่างกาย

2. ให้ยาเตตร้าซัยคลิน ไทรเมโธพริม หรือ ซัลฟาเมธอกซาโซล

  • ไม่ต้องแยกกักผู้ป่วย ยกเว้นในพื้นที่ไม่ใช่โรคประจำถิ่น
  • ระวังเรื่องสิ่งขับถ่าย ฆ่าเชื้อโรคโดยต้มน้ำให้เดือดหรือเติมคลอรีน
  • ค้นหาแหล่งเชื้อโรคและผู้สัมผัสเพื่อพิจารณาให้ยาบำบัดรักษาข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดอาการท้องเสีย

3. งดอาหารที่มีรสจัดหรือเผ็ดร้อน หรือของหมักดอง
4. ดื่มน้ำชาแก่แทนน้ำ บางรายต้องงดอาหารชั่วคราวเพื่อลดการระคายเคืองในลำไส้
5. ดื่มน้ำเกลือผง สลับกับน้ำต้มสุก ถ้าเป็นเด็กเล็กควรปรึกษาแพทย์
6. ถ้าท้องเสียอย่างรุนแรง ต้องรีบนำส่งแพทย์ด่วน

การป้องกัน อหิวาตกโรค (Cholera)

1.รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆและดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก ภาชนะที่ใส่อาหาร ควรล้างสะอาดทุกครั้งก่อนใช้ หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง สุกๆ ดิบๆ อาหารที่ปรุงทิ้งไว้นานๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม

2.ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินอาหาร หรือก่อนปรุงอาหารและหลังเข้าส้วม

3.ไม่เทอุจจาระ ปัสสาวะและสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำคลอง หรือทิ้งเรี่ยราด ต้องถ่ายลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ และกำจัดสิ่งปฏิกูลโดยการเผาหรือฝังดิน เพื่อป้องกันการแพร่ของเชื้อโรค ต้องป้องกันไม่ให้อุจจาระลงไปแปดเปื้อนในน้ำดื่ม น้ำใช้ จัดหาน้ำสะอาดสำหรับบริโภคให้เพียงพอ ดื่มน้ำต้ม และน้ำนมสัตว์ที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อ หรือการพาสเจอไรซ์ก่อน

4.ระวังไม่ให้น้ำเข้าปาก เมื่อลงเล่นหรืออาบน้ำในลำคลอง

5.หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นอหิวาตกโรค การแนะนำประชาชนให้มีความรู้เกี่ยวกับการติดโรคและวิธีป้องกันโรค หัดให้เป็นนิสัยในการล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงหรือกินอาหารและหลังจากเข้า ส้วม แนะนำ และจัดสร้างส้วมให้ถูกหลักสุขาภิบาล

6.สำหรับผู้ที่สัมผัสโรคต้องรับประทานยาที่แพทย์ให้จนครบ

7.การฉีดวัคซีนอหิวาตกโรคให้ผลป้องกันโรคไม่สมบูรณ์

ที่มา : กรมควบคุมโรค , bangkokhealth

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ