ผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนใดๆ อาจมีความเสี่ยงต่อภาวะ VITT ภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่กระตุ้นการเกิดหลอดเลือดอุดตันจากภูมิคุ้มกันหลังรับวัคซีน
ภาวะ VITT คืออะไร?
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า ภาวะ VITT หรือ Vaccine-induced immune thrombotic thrombocytopenia (VITT) คือ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่กระตุ้นการเกิดหลอดเลือดอุดตันจากภูมิคุ้มกันหลังรับวัคซีน เกิดภายหลังได้รับวัคซีน โดยเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 ชนิด Viral vector vaccine เช่น AstraZeneca และ Johnson & Johnson/Janssen แม้จะเป็นภาวะที่อาจเกิดอาการรุนแรง แต่อุบัติการณ์ การเกิดภาวะไม่พึงประสงค์จากวัคซีนดังกล่าวคาดการณ์ว่าน่าจะต่ำมาก คือ อยู่ระหว่าง 1:125,000–1:1,000,000
กลุ่มเสี่ยงภาวะ VITT
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอายุต่ำกว่า 60 ปี และส่วนมากเป็นเพศหญิง ผู้ป่วยจะแสดงอาการหลังได้รับวัคซีนประมาณ 4-30 วัน
อาการหลอดเลือดอุดตันหลังรับวัคซีนโควิด-19 ที่สังเกตได้
- ปวดศีรษะรุนแรง
- ปวดท้องไม่ทราบสาเหตุ
- ปวดหลังรุนแรง
- ขาบวม แดง หรือซีด เย็น
- แขนขาชา อ่อนแรง
- หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด
- เหนื่อยหอบ
- แน่นหน้าอก
- ตามัว เห็นภาพซ้อน
- ชัก
- พบอาการเหล่านี้ ร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
หากมีภาวะ VITT ควรทำอย่างไร?
หากผู้ได้รับวัคซีนคนใดมีอาการบ่งชี้ว่าอาจมีหลอดเลือดอุดตัน หลังได้รับวัคซีนภายใน 30 วัน ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที และหากแพทย์ตรวจพบว่ามีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ร่วมกับค่า D-dimer ที่ผิดปกติในผู้ป่วยหลอดเลือดอุดตันจะพิจารณาให้การรักษาผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลของรัฐ และเอกชนอย่างน้อย 79 แห่ง ทั่วประเทศที่มีความพร้อมในการตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์จะส่งตัวอย่างเลือดเพื่อยืนยันอีกครั้งด้วยวิธีที่เรียกว่า Anti PF4/heparin antibody และ Platelet activation assay ตามแนวทางของสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย โดยทั้งหมดนี้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวล และเชิญชวนให้ทุกคนไปรับการฉีดวัคซีนตามที่ได้นัดหมายไว้