ช่วงนี้ภาครัฐมีการเชิญชวนประชาชนออกไปฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ หลายคนเห็นตรงกันว่านี่คือทางออกที่ดีที่สุด แต่วันนี้ไม่ได้มาชวนคุยเรื่องวัคซีนแต่อย่างใด แต่จะมาคุยเรื่องอาการกลัวเข็ม โดยเริ่มจากคนใกล้ตัวผู้เขียนเองที่บอกว่า “อยากฉีดนะ แต่กลัวเข็ม” วันนี้มารู้จัก อาการ Needle Phobia หรือโรคกลัวเข็ม กันดีกว่า
โรคกลัวเข็มคืออะไร?
โรคกลัวเข็ม มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการคือ Trypanophobia หรือที่รู้จักกันในชื่อ Needle Phobia
Needle แปลว่าเข็ม Phobia แปลว่าอาการกลัว อาการนี้ถูกบันทึกว่าเป็นอาการทางจิตตั้งแต่ ค.ศ. 1994 ผู้ที่มีอาการนี้จะกลัวเข็ม ไม่ว่าจะเป็นการฉีดยา เจาะเลือด หรือการกระทำใดๆ ที่ต้องโดนเข็มแหลมๆ มาจิ้มหรือเกี่ยวข้อง ซึ่งการเกิดอาการนี้ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเกิดจากอะไรกันแน่ เบื้องต้นได้ให้สาเหตุไว้ว่า
- อาจจะเกิดจากเหตุการณ์ที่ฝังใจในอดีต จนส่งผลมาถึงปัจจุบัน
- คนในครอบครัวหรือใกล้ชิดมีอาการกลัวเข็ม ทำให้กลัวตามไปด้วย
- มีทัศนคติในแง่ลบต่อการทำหัตถการทางการแพทย์ กลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้น
แน่นอนว่ามันมากกว่าอาการกลัวเจ็บนะ อย่างตัวผู้เขียนเองก็กลัวเจ็บ ไม่เคยเชื่อคำว่า มดกัด ของพยาบาลเลย และเชื่อว่าหลายคนก็กลัวเจ็บเหมือนกัน แต่อาการของโรคกลัวเข็มหรือ Needle Phobia มีมากกว่านั้น เรียกง่ายๆว่า แค่เห็นเข็มก็รู้สึกกลัว หนักมากๆอาจจะมีอาการดังนี้
- เป็นลม (อันนี้เราอาจจะเห็นได้บ่อย)
- หัวใจเต้นเร็ว กระวนกระวาย ใจสั่น
- ความดันโลหิตสูง-ต่ำผิดปกติ
- กลัว แพนิก
อย่างไรก็ตามอาการที่เกิดขึ้นก็สามารถรักษาและบรรเทาได้ด้วยการบำบัด การมองคนอื่นฉีดเพื่อให้เข้าใจว่าไม่อันตราย เจอกับความกลัว รักษาด้วยยา หากรู้สีกว่าตัวเองมีปัญหานี้แล้วมันส่งผลกระทบต่อชีวิตก็แนะนำให้ปรึกษาแพทย์
อาการกลัวเข็มไม่ใช่เรื่องตลกแบบที่เราเห็นกัน บางคนกลัวจริงๆ เราควรให้กำลังใจ นอกจากนี้ก็ขอเชิญชวนทุกคนไปฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ใช้เวลาไม่นานในการฉีด เจ็บนิดเดียวเหมือนมดกัด แต่ได้ประโยชน์กับสุขภาพมากๆ แน่นอน