เคยรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งไหม เคยรู้สึกว่างานนี้เราทำไม่ได้แน่ๆมันเกินความสามารถของเรา กลัวว่าทำไปแล้วไม่สำเร็จคนจะรู้ว่าเราไม่มีความสามารถ หากเคยรู้สึกแบบนี้ คุณอาจจะมีอาการ Impostor Syndrome หรืออาการคิดว่าตัวเองไม่เก่ง
มารู้จัก Imposter Syndrome
Impostor Syndrome (IS) เป็นอาการอย่างหนึ่งที่ทำให้คนที่มีอาการนี้มีความรู้สึกที่ไม่มั่นใจ กังวลเกี่ยวกับความสามารถของตัวเอง ความสำเร็จของตัวเอง มักจะมีความคิดที่มองว่าตัวเองไม่เก่ง ทุกอย่างที่ทำแล้วสำเร็จนั้นมีคนช่วย มีโชคช่วย เราไม่ได้มีความสามารถในเรื่องนั้นหรือเรื่องที่ทำอยู่ กลัวว่าวันหนึ่งคนจะจับได้ว่าตัวเองนั้นไม่ได้เก่งจริงๆ
นอกจากนี้ Impostor Syndrome ยังปรากฏให้เห็นในรูปแบบของคนที่รู้สึกกลัวว่าจะทำได้ไม่ตรงตามมาตรฐานที่ถูกวางไว้ แม้ว่าสุดท้ายงานจะออกมาดีแค่ไหน คนที่เป็น Impostor Syndrome ก็จะรู้สึกไม่พอใจในผลงานอยู่ดีแล้วคิดว่ามันต้องออกมาได้ดีกว่านี้ ที่มันสำเร็จแบบนี้อาจจะเป็นเพราะโชคดี
คำว่า Impostor Syndrome ถูกใช้ครั้งแรกราวๆปี 1970 โดยนักจิตวิทยาที่มีชื่อว่า Suzanne Imes และ Pauline Rose Clance
สำรวจอาการ Impostor Syndrome
คนที่มีอาการ Impostor Syndromeมักจะมีสัญญาณที่สังเกตได้ดังนี้
- สงสัยในความสำเร็จของตัวเองอยู่บ่อยๆ
- ไม่มองตัวเองว่าประสบความสำเร็จ
- รู้สึกว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากปัจจัยภายนอกเช่น ดวง คนช่วยเหลือ
- มองความสามารถของตัวเองต่ำ
- ตั้งเป้าหมายสูงเกินความเป็นจริง
- ไม่พอใจกับผลงาน โฟกัสสิ่งที่ยังไม่ได้ทำแล้วหงุดหงิดตัวเอง
สาเหตุของการเกิดImpostor Syndrome
สาเหตุของการเกิดนั้นอาจจะมีหลายปัจจัย เช่น คุณอาจจะเติบโตมาในครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับการประสบความสำเร็จในชีวิต การเข้าไปที่เรียนใหม่ ที่ทำงานใหม่ ก็ทำให้คุณรู้สึกถึงอาการ Impostor Syndromeได้เช่นกัน
นอกจากนี้ความวิตกกังวลเวลาเข้าสังคมก็กระตุ้นให้เกิดอาการได้เช่นกันเพราะเรากลัวว่าเราไม่มีความสามารถ กลัวว่าจะไม่ถูกยอมรับ นอกจากนี้กลุ่มคนที่เป็น Perfectionists หรือคนที่ชอบความสมบูรณ์แบบ คนที่เก่งมากๆ คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอะไรสักอย่าง ก็มีแนวโน้มที่จะมีอาการ Impostor Syndrome มากกว่าคนอื่นๆ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่พอใจกับงานที่ทำ แล้วชอบตั้งเป้าหมายไว้สูงเกินจริง
จัดการอย่างไรดี
ใครที่รู้สึกว่าตัวเองมีอาการ Impostor Syndrome ลองปรับความคิดและลองทำตามวิธีนี้ดู
- แชร์ความรู้สึกของตัวเอง แชร์ความคิดของตัวเองให้คนอื่นรับฟังบ้าง
- ให้ความสำคัญกับคนอื่น ลองช่วยเหลือคนอื่นดู พวกเขาจะชมเชยในความสามารถของเรา แล้วจะทำให้เรารู้สึกมั่นใจมากขึ้น
- ประเมินความสามารถของตัวเองก่อนทำงาน ว่าทำได้แค่ไหน เป้าหมายนี้เป็นไปได้ไหม
- ค่อยๆเรียนรู้ ไม่จำเป็นต้องเก่งหรือประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป
- รักตัวเองและมองเห็นคุณค่าของตัวเอง
- อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือ
- ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักจิตวิทยา ผู้ให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยา
หากให้สรุปสั้นๆ อาการ Impostor Syndrome อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน วิธีแก้ก็ให้เรามองเห็นคุณค่า มองเห็นความสามารถของตัวเอง อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือ อย่ากลัวที่จะพูดคุยกับคนอื่นเพื่อหาทางแก้ปัญหา