รู้จัก “Bangkok Halal Beef” ฟาร์มโคขุนเกรดพรีเมียม ขุนวัวด้วย “เปลือกทุเรียนหมัก”

Home » รู้จัก “Bangkok Halal Beef” ฟาร์มโคขุนเกรดพรีเมียม ขุนวัวด้วย “เปลือกทุเรียนหมัก”
รู้จัก “Bangkok Halal Beef” ฟาร์มโคขุนเกรดพรีเมียม ขุนวัวด้วย “เปลือกทุเรียนหมัก”

“Bangkok Halal Beef” ฟาร์มโคขุนเกรดพรีเมียม เมืองยะลา ขุนวัวด้วย ‘เปลือกทุเรียนหมัก’

ฟาร์มโคขุน Bangkok Halal Beef จ.ยะลา ใช้ “เปลือกทุเรียน” หมักเป็นอาหารวัว เผยมีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งใย ไขมัน และพลังงาน ทดแทนหญ้าเนเปียร์และอาหารข้นได้ดี ช่วยลดต้นทุนได้จาก 2.50 บาท เหลือ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม หมักเปลือกแค่ 1 สัปดาห์ก็ให้วัวกินได้ ช่วยลดขยะและเพิ่มคุณค่าทางการเกษตร ไม่ส่งผลเสีย

มุมตาซ ไสสากา ผู้ดูแลฟาร์มโคขุน Bangkok Halal Beef ต.บันนังสาเรง อ.เมือง จ.ยะลา เผยว่า ฟาร์มโคขุน Bangkok Halal Beef เลี้ยงโคขุนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยใช้น้ำเชื้อจากพ่อพันธ์พันธุ์ดีคือ พันธุ์ Black Angus ซึ่งมีเอกลักษณ์คือ เนื้อนุ่มและมีไขมันแทรกที่ดี ผสมกับแม่วัวพันธุ์ผสมเลือดดีๆ เมื่อลูกวัวคลอดออกมา มีอายุประมาณ 8 เดือน หรือตั้งแต่หย่านม ก็จะนำเข้าสู่กระบวนการขุนไปจนถึงอายุไม่เกิน 2 ปี ก็จะส่งเชือด เพราะเป็นวัวหนุ่มเนื้อจะนุ่ม แต่ถ้าได้ลูกวัวตัวเมียก็ใช้ในการพัฒนาพันธุ์ต่อไป

มุมตาซ กล่าวว่า การขุนโคเพื่อให้ได้เนื้อโคที่ดี ต้องมีทั้งสายพันธุ์ที่ดีและอาหารที่ดีควบคู่กัน อาหารสำหรับโคขุนต้องใช้ธัญพืช เพราะจะทำให้เนื้อมีความนุ่มและมีไขมันแทรกเพิ่มขึ้นมาในเกรดที่กำหนดไว้ โดยจะขุนให้เนื้อมันนิ่งที่สุดและนุ่มที่สุด

มุมตาซ กล่าวว่า ตลาดโคขุนมี 2 ส่วนแยกกันคือ ถ้าเลี้ยงโดยใช้หญ้าก็จะส่งเขียงขายเป็นเนื้อแดงธรรมดา แต่ถ้าเลี้ยงโดยใช้ธัญพืชอย่างที่ฟาร์มนี้เลี้ยงจะเป็นตลาดเนื้อพรีเมียม ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อก้อนที่นำไป Butcher เพื่อทำเป็นเนื้อเสต็ก หรือเป็นเนื้อสไลด์เหมาะสำหรับปิ้งย่าง ซึ่งเนื้อพรีเมียมคือ เนื้อที่มีเกรดดี

มุมตาซ เปิดเผยด้วยว่า ในแต่ละปีฟาร์มโคขุน Bangkok Halal Beef พยายามขุนเนื้อโคขุนให้มีน้ำหนักตัวที่ 600-700 กิโลกรัมแล้วจึงส่งเชือด โดยส่งไปเชือดที่โรงเชือดอิบรอฮิมที่ จ.ราชบุรี เพราะเป็นโรงเชือดที่ผ่านมาตรฐานฮาลาล จากนั้นก็ไปส่ง Butcher (ชำแหละ) ในบริษัท Butcher ที่บางนา กรุงเทพมหานคร ออกมาเป็นเนื้อก้อน เนื้อบด เนื้อสไลด์ ตามสเปคที่ต้องการ แล้วดึงกลับมาขายใน จ.ยะลา

เปลือกทุเรียน คุณค่าทางอาหารสูง

“การเลี้ยงวัว แน่นอนคือต้นทุนสูง เราจึงมองว่าจะทำอย่างไรให้ต้นทุนต่ำแต่ให้ผลผลิตสูง เราต้องมองว่าในบ้านเรา มีวัตถุดิบอะไรได้บ้าง” มุมตาซ กล่าว

มุมตาซ กล่าวว่า สิ่งที่มองหาคือ วัตถุดิบที่ใช้เป็นอาหารหยาบได้ มีโปรตีนและคุณค่าทางอาหาร นั่นคือ การลดต้นทุนโดยใช้เปลือกทุเรียน เพราะเปลือกทุเรียนสามารถใช้ทดแทนอาหารหยาบได้ โดยเฉพาะการทดแทนหญ้าเนเปียร์

มุมตาซ กล่าวว่า สิ่งที่พบอีกอย่างคือ ในเปลือกทุเรียนมีแป้งที่ให้พลังงานสูง สามารถใช้ทดแทนอาหารข้นได้ด้วย ซึ่งอาหารข้นนั้นจะทำให้วัวโตได้เพียงพอที่จะเลี้ยงโคขุนและวัวแม่ได้

ลดต้นทุนได้เยอะ จาก 2.50 บาท เหลือ 50 สตางค์ต่อกิโลฯ

มุมตาซกล่าวว่า เปลือกทุเรียนนั้นช่วยลดต้นทุนได้มาก โดยสามารถทดแทนหญ้าเนเปียร์สำหรับวัวตัวหนึ่งได้ถึง 6 กระสอบ ซึ่งตกกระสอบละ 180 กิโลกรัม 1 เดือนอยู่ที่ 5,400 กิโลกรัม ซึ่งราคาหญ้าเนเปียร์ที่รับซื้อมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 2.50 บาท ระยะเวลา 1 เดือน ราคาหญ้าเนเปียร์ก็จะตกอยู่ที่ 13,500 บาท

“นี่ก็คือต้นทุนที่เราทดแทนได้จากเปลือกทุเรียน ซึ่งที่ฟาร์มได้นำเปลือกทุนเรียนมาใช้เลี้ยงวัว 30 ตัว” มุมตาซ กล่าว

มุมตาซ กล่าวว่า เปลือกทุเรียนก็คือขยะเกษตรที่เขาทิ้งแล้ว ทางฟาร์มจะไปเก็บมานำมาหมักเป็นอาหารวัว ซึ่งเหมือนการไปช่วยกำจัดขยะให้ โดยคิดต้นทุนที่ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นค่าแรงในการสับเปลือกทุเรียน ในการหมัก และราคาจุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมัก จากที่ใช้หญ้าเนเปียร์กิโลกรัมละ 2.50 บาท ลดเหลือประมาณ 50 สตางค์เท่านั้น

มุมตาซ กล่าวว่า เปลือกทุเรียนให้คุณค่าทางอาหารสูงโดยเฉพาะโปรตีน ซึ่งยิ่งหมักจะเพิ่มจำนวนโปรตีนมากขึ้น ที่สำคัญคือ มีพลังงานและแป้งสูง ข้อดีของเปลือกทุเรียนคือ จะอยู่กึ่งกลางระหว่างอาหารหยาบกับอาหารข้น และมันมีทั้งเยื่อใยและไขมันสูง

“วัวต้องการโปรตีน พลังงาน และไขมันสูง ซึ่งปกติจะให้รำข้าวเป็นอาหารที่ให้พลังงาน วัวกินแล้วอ้วน ซึ่งเปลือกทุเรียนก็มีในส่วนนั้น เปลือกทุเรียนทำให้เราสามารถลดการใช้วัตถุดิบอื่นๆ ได้เยอะเพื่อลดต้นทุนเราได้” มุมตาซ กล่าว

หมักเปลือกทุเรียน 1 สัปดาห์ให้วัวกินได้

มุมตาซ กล่าวว่า ในการทำเปลือกทุเรียนหมักนั้น จะใช้วิธีการสับให้ได้ประมาณ 4-5 ซม. ต่อชิ้น โดยใช้เครื่องสับ จากนั้นนำไปใส่ในถังขนาด 120 ลิตร อัดให้แน่น ไล่อากาศออกให้ได้มากที่สุด เพราะจะทำให้จุลินทรีย์ทำงานได้เต็มที่ หากมีช่องว่างอยู่เยอะก็จะเกิดเชื้อรา และจุลินทรีจะทำงานไม่สมบูรณ์

ในการหมัก ใช้จุลินทรีย์พิเศษ 5 สายพันธุ์ที่สั่งซื้อมา ผสมน้ำแล้วราดลงในถังหมัก ปิดผนึกให้แน่นอย่าให้อากาศเข้าไปได้ ใช้เวลาหมักประมาณ 1 สัปดาห์ก็นำมาให้วัวกินได้ โดยผสมกับรำและอาหารเม็ด ซึ่งจุลินทรีจะทำให้เปลือกทุเรียนนิ่ม ช่วยเจือจางพวกสารต่างๆ จนหมด จนไม่เกิดอันตรายซึ่งสำคัญมาก และเพิ่มคุณค่าความน่ากินมากขึ้น วัวก็จะได้กินอร่อยและมีกลิ่นหอม

มุมตาซ กล่าวว่า การให้อาหารโคขุนต้องทำให้วัวกินเยอะที่สุด แต่ให้ทีละน้อยและให้บ่อยๆ เมื่อวัวกินเยอะ ก็จะส่งผลต่อการเพิ่มน้ำหนัก และมีเนื้อที่ดี

ช่วยลดขยะและเพิ่มคุณค่าทางการเกษตร ไม่มีผลเสีย

มุมตาซ กล่าวว่า ถ้าใครจะมาเรียนรู้ก็ยินดี และพร้อมที่จะแบ่งปันความรู้เหล่านี้เต็มที่ เพราะเปลือกทุเรียนในพื้นที่มีเยอะมาก ซึ่งฤดูทุเรียนกำลังจะมาถึงแล้ว เปลือกทุเรียนที่ถูกทิ้งให้เป็นขยะเกษตร จะเอามาทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อลดปริมาณขยะและเพิ่มคุณค่าทางการเกษตร

มุมตาซ กล่าวว่า เปลือกทุเรียนสามารถลดต้นทุนการเลี้ยงวัวได้ เพราะเกษตรกรบ้านเราก็เลี้ยงวัวอยู่แล้ว วัวทั่วไปก็กินได้ ให้เป็นอาหารกับแพะก็ได้ ซึ่งเปลือกทุเรียนไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงอะไร

“ทางฟาร์มเริ่มให้เปลือกทุเรียนประมาณ 1 เดือนแล้ว ดูจากขี้วัวก็ยังปกติ ถ้าขี้เหลวก็แสดงว่าท้องเสีย แต่ถ้าขี้แข็งเกินแสดงว่าอาหารข้นไม่เพียงพอ ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ในเกณฑ์ปกติ ดังนั้นยืนยันได้เลยว่าไม่มีผลเสียแน่นอนครับ” มุมตาซ กล่าวทิ้งท้าย

อ่านเรื่องราวท้องถิ่นอื่น ๆ :

  • รู้จัก “เกลือหวานปัตตานี” คุณภาพเกือบเท่าอิตาลี ไทยเตรียมเสนอเป็นมรดกโลก
  • หมดยุคทำนาไม่มีวันรวย “กลุ่มนาแปลงใหญ่ทุ่งกุลา” ฟื้นผืนนา เพิ่มมูลค่าข้าวด้วยเกษตรอินทรีย์
  • รู้จัก “ฝายห้วยกระทิง” ฝายมีชีวิตใหญ่ที่สุดในชายแดนภาคใต้ หน้าแล้ง น้ำไม่เคยแห้ง
  • รู้จักวิถีชาวประมง ‘ดูหลำ’ แค่ฟังเสียงก็จับปลาได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ