รู้จัก 'ไส้ติ่งอักเสบ' ปวดท้องแบบไหนถึงเสี่ยง ชี้ต้องผ่าตัดเท่านั้น ปล่อยไว้อันตราย

Home » รู้จัก 'ไส้ติ่งอักเสบ' ปวดท้องแบบไหนถึงเสี่ยง ชี้ต้องผ่าตัดเท่านั้น ปล่อยไว้อันตราย



มารู้จัก “โรคไส้ติ่งอักเสบ” สาเหตุมาจากอะไร ปวดท้องแบบไหนถึงเสี่ยง ชี้ต้องผ่าตัดเท่านั้น หากรักษาไม่ทัน อันตรายถึงชีวิต!

ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) ถือเป็นหนึ่งในโรคที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม เพราะสามารถพบได้ทุกวัย แต่หลายคนมักจะแยกไม่ออกว่า อาการแบบไหนคือปวดท้องปกติ และอาการแบบไหนที่เป็นไส้ติ่งอักเสบ วันนี้เรามาทำความรู้จักโรคไส้ติ่งอักเสบเพิ่มกัน

ไส้ติ่งอักเสบเกิดจากอะไร

มักเกิดจากของเสีย สิ่งแปลกปลอม หรืออุจจาระที่เคลื่อนลงไปอุดตันในไส้ติ่ง ทำให้เกิดแบคทีเรียสะสม มีเลือดคั่งและกระจายไปที่ผนังไส้ติ่ง จนเกิดการอักเสบกลายเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ

หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ความรุนแรงของโรคจะมากขึ้นเรื่อย ๆ จนผนังไส้ติ่งเกิดการเน่าและแตก และหากไส้ติ่งแตกทะลุจนเกิดการติดเชื้อในช่องท้อง กลายเป็นติดเชื้อในกระแสเลือด อาจมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

สัญญาณเตือนอาการไส้ติ่งอักเสบ

มีอาการนำด้วยเรื่องคลื่นไส้ พะอืดพะอม เบื่ออาหาร ต่อมาเริ่มมีอาการปวดท้อง ซึ่งคล้ายคลึงกับอาการปวดท้องทั่วไป บอกตำแหน่งได้ไม่แน่นอน

ต่อมาจะรู้สึกปวดแบบบิด ๆ รอบสะดือ (สัญญาณเตือนระยะเริ่มแรกของอาการที่ไส้ติ่งเริ่มอุดตัน) จะเริ่มปวดบริเวณด้านล่างขวาขึ้นชัดเจน (ผู้ป่วยบางรายอาจจะปวดบริเวณนี้ตั้งแต่แรก) อาการปวดจะค่อย ๆ เพิ่มและเป็นนานขึ้น และจะปวดมากขึ้นเรื่อยๆ หากมีการเคลื่อนไหว เช่น เดิน ไอ จาม

นอกจากอาการปวดท้องแล้ว จะมีอาการอย่างอื่นร่วม เช่น มีไข้ หนาวสั่น เนื่องจากเกิดการติดเชื้อ หากไม่ได้รับการผ่าตัดรักษา จะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือดส่งผลให้เสียชีวิตได้

การรักษาไส้ติ่งอักเสบ

โรคไส้ติ่งอักเสบไม่สามารถหายได้เอง และต้องได้รับการรักษาโดยด่วนที่สุดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน หรือความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการเสียชีวิต และการรักษาไส้ติ่งอักเสบจะมีเพียงการผ่าตัดเอาไส้ติ่งที่อักเสบออกเท่านั้น โดยต้องผ่าตัดให้เร็วที่สุด เพราะหลังจากเกิดการอักเสบแล้วไส้ติ่งอาจจะเน่า และแตกทะลุภายใน 24-36 ชั่วโมง หากไส้ติ่งแตกจะมีความเสี่ยงที่อาจทำให้เสียชีวิตสูง

ปัจจุบันการผ่าตัดไส้ติ่งมี 2 วิธี คือ การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง และการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ซึ่งการผ่าตัดแบบส่องกล้องถือเป็นวิธีที่นิยม เพราะแผลมีขนาดเล็ก เจ็บแผลน้อย และยังมีความปลอดภัย ลดภาวะอาการแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด ใช้เวลาในการพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1 – 2 วัน

ขอบคุณที่มา bangkokhospital, sikarin

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ