หลายปีก่อน เราได้รู้จักกับอัจฉริยะต้องสร้างอย่าง “โปรเม” เอรียา จุฑานุกาล ที่สร้างประวัติศาสตร์ให้วงการกอล์ฟไทยด้วยการคว้าความสำเร็จในวงการกอล์ฟหญิง จนกลายเป็นกระแสฟีเวอร์ในเมืองไทยสุดขีดมาแล้ว
ล่าสุดดูเหมือนว่าวงการกอล์ฟของไทยได้ตื่นตัวอีกครั้ง เมื่อปรากฏเด็กอัจฉริยะที่ว่ากันว่า อาจจะเป็นเหมือนกับ ไทเกอร์ วูดส์ แห่งสนามกอล์ฟหญิง นั่นคือ “โปรเหมียว” ปภังกร (แพตตี้) ธวัชธนกิจ ที่เพิ่งคว้าแชมป์รายการใหญ่อย่าง เอเอ็นเอ อินสไพเรชั่น ปี 2021 พร้อมกับการเป็นนักกอล์ฟคนที่ 2 ของไทยที่คว้าแชมป์ระดับเมเจอร์ได้สำเร็จ
เจ้าของฉายา “เด็กอัจฉริยะ” ในวัย 21 ปี คือใคร ? และอะไรทำให้เธอสร้างประวัติศาสตร์ได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ? ติดตามได้ที่นี่
จาก ปภังกร สู่ แพตตี้
กอล์ฟ นั้นอาจจะเป็นกีฬาที่ว่ากันว่าเป็นเรื่องของคนรวย และน้อยคนที่จะเข้าถึงการฝึกซ้อมที่ดี อุปกรณ์ที่มีคุณภาพได้ โดยเฉพาะประเทศโลกที่สามอย่าง ประเทศไทย … ดังนั้นหากพูดถึงความเหนื่อยยาก ลำบากกาย และการทุ่มเททั้งใจในกีฬากอล์ฟ อาจจะมีหลายคนไม่ค่อยเห็นภาพชัดมากมายนัก หากเทียบกับกีฬายอดนิยมอย่างฟุตบอล
อย่างไรก็ตาม ไม่มีความสำเร็จใดที่ไม่ได้เริ่มต้นด้วยความตั้งใจและจริงจัง นั่นคือความจริงที่แน่นอนไม่มีการแบ่งประเภทกีฬา และสิ่งนั้นทำให้ โปรเหมียว เดินทางมาถึงการเป็นแชมเปี้ยนในระดับเมเจอร์ได้ตั้งแต่อายุ 21 ปีเท่านั้น
Photo : uclabruins
“คุณพ่อมักจะบอกกับ เหมียว เสมอว่าให้ตั้งเป้าหมายกับตัวเอง และควรตั้งเป้าที่จะติดท็อป 100 ในอันดับ โรเล็กซ์ แรงกิ้ง (อันดับนักกอล์ฟหญิงโลก) และติดท็อป 60 ในอันดับ ซีเอ็มอี โกลบ (คะแนนสะสมประจำปี) ให้ได้ตั้งแต่ปีแรกที่แข่งใน LPGA” นี่คือสิ่งทีโปรเหมียวพูดถึงความคาดหวังที่มีต่อตัวเอง
จบไฮสคูลหรือระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนนานาชาติกีรพัฒน์ในกรุงเทพฯ ก่อนจะบินไปศึกษาต่อในคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลิส หรือ UCLA อันโด่งดัง ซึ่งตลอดเวลาเธอก็ฝึกซ้อมกอล์ฟอย่างเต็มที่มาโดยตลอด และมี ไทเกอร์ วูดส์ หนึ่งในนักกอล์ฟที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์เป็นแบบอย่าง … ที่สำคัญ เธออยากจะเป็นนักกอล์ฟมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบแล้ว
เธอเล่ากับสื่ออย่าง Golf Channel ว่า ไทเกอร์ คือแรงบันดาลใจ และแบบอย่าง ไม่ใช่แค่ในด้านการตีกอล์ฟเท่านั้น แต่มันคือการเป็นแชมเปี้ยน ด้วยการสร้างนิสัยแบบแชมเปี้ยน มองไปที่ชัยชนะ และพยายามก้าวข้ามตัวเองในทุก ๆ วัน
ในปี 1997 ไทเกอร์ วูดส์ คว้าแชมป์กอล์ฟระดับเมเจอร์รายการแรกของตัวเองได้สำเร็จ ในรายการ เดอะ มาสเตอร์ส และในรายการนั้น เขาได้โชว์ศักยภาพในฐานะ “พายุลูกใหม่ของวงการ” ด้วยการตีไกลเป็นอันดับ 2 รองจาก จอห์น เดลีย์ คนเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ศักยภาพด้านอื่น ๆ ของ วูดส์ ก็ฉายออกมาแบบสุดขีด จนสามารถคว้าแชมป์ระดับเมเจอร์ได้ตั้งแต่ขวบปีแรกที่เทิร์นโปร นั่นคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ในวงการกอล์ฟที่ ไทเกอร์ เขย่าโลก
Photo : Golfweek
20 กว่าปีผ่านไปจากวันของ ไทเกอร์ สถิติดังกล่าวถูกทาบโดย ปภังกร ธวัชธนกิจ สาวไทยที่เดินตามรอยเท้าไอดอลของเธอได้สำเร็จ … และในวันที่เธอชูถ้วยแชมป์ สื่อต่างชาติให้คำจำกัดความของเธอว่า “นี่คืออิมแพกต์เหมือนกับที่ ไทเกอร์ เคยทำเอาไว้”
วิถีแชมป์
นักกีฬาระดับอาชีพทุกสาขาล้วนต้องผ่านการฝึกหนักมาไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่จะพาให้ใครสักคนไปถึงตำแหน่งแชมป์ได้ คือ “จิตวิญญาณแห่งผู้ชนะ” สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ แต่มันจะแสดงออกมาต่อเมื่อสถานการณ์บีบบังคับ และมีเส้นบาง ๆ ที่กั้นระหว่างการเป็นผู้เข้าแข่งขัน กับการเป็นแชมป์
โปรเหมียว ในวัย 16 ปี ก้าวเข้าสู่เส้นทางนักกอล์ฟเด็กระเบิดด้วยการ คว้ารางวัลนักกอล์ฟเยาวชนหญิงยอดเยี่ยม (Rolex Junior Player of the Year) จากสมาคมกอล์ฟเยาวชนแห่งสหรัฐอเมริกา (AJGA) ในปี 2016 ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับที่ โปรเม เอรียา เคยได้เมื่อครั้งอดีต (โปรเม ได้เมื่อปี 2011 และ 2012)
Photo : Bangkok Post
และหลังทำผลงานในฐานะนักกอล์ฟสมัครเล่นได้อย่างยอดเยี่ยมในรายการ เอเอ็นเอ อินสไพเรชั่น ปี 2019 โดยจบที่อันดับ 26 ร่วม … สิ่งที่เธอมีคือ “ความมั่นใจ” และ “รู้จักตัวเอง” เพราะหลังจากจบทัวร์นาเมนต์นั้น เธอก็ตัดสินใจที่จะเทิร์นโปรในปีต่อมา ด้วยวัยไม่ถึง 20 ปี … หลายคนอาจจะคิดว่าเร็วเกินไป แต่เธอคิดตรงกันข้าม นี่คือช่วงเวลาที่เธอพร้อมสำหรับความท้าทายในสนามของจริงแล้ว
โปรเหมียว มาถึงจุดที่นึกถึงคำของพ่อที่คุยกันเมื่อครั้งอดีตว่าต้องตั้งเป้าติดท็อป 100 ในปีแรก ตอนนี้ เธอหวังไกลกว่านั้น แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เธอหวังถึงแชมป์ในรายการระดับเมเจอร์รายการแรกของเธอในปี 2021
ในรายการ เอเอ็นเอ อินสไพเรชั่น ปี 2021 โปรเหมียว ทำสิ่งเดียวกันกับที่ ไทเกอร์ วูดส์ ทำไว้เมื่อปี 1997 เธอโดดเด่นมากในเรื่องตีไกล ด้วยค่าเฉลี่ยการไดรฟ์ (ตีลูกไม้แรกจากแท่นทีออฟ) ไกลถึง 326 หลา แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่เหล่านักวิจารณ์ชื่นชม “ความสมบูรณ์แบบ” ไม่ใช่แค่ไกล แต่เทคนิคและวิธีการเล่นต่าง ๆ ยังมีความแยบยลจนเธอได้รับคำชมว่า “เป็นนักกอล์ฟหญิงไม่กี่คนที่ตีได้สมบูรณ์แบบขนาดนี้”
ซึ่งเคล็ดลับเธอคือมีสภาพจิตใจที่พร้อมมากในการเลือกเล่นแต่ละช็อต ในกีฬากอล์ฟนั้น การตี 1 ครั้งมีความหมายมากมาย จังหวะไหนต้องสู้ จังหวะไหนต้องเซฟ หากนักกอลฟคนใดมีสภาพจิตใจที่มั่นคง รักษาการตีให้มีมาตรฐานตลอดทัวร์นาเมนต์ได้ คนนั้นก็มีโอกาสที่จะเป็นผู้ชนะ
Photo : Khaosod
โดย โปรเหมียว เล่าว่าเรื่องหัวจิตหัวใจเป็นเรื่องที่เธอให้ความสำคัญมาก เพราะเธอติดต่อกับทีมโค้ชจิตวิทยาจาก VISION54 อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะก่อนแข่งหรือระหว่างแข่ง โดยในรายการ เอไอเอ อินสไพเรชั่น นั้น เธอเล่าถึงสิ่งที่ได้แชทคุยกับโค้ชด้านจิตวิทยาที่ชื่อว่า เพีย นิลสัน และ ลินน์ แมร์ริอ็อตต์ ว่า จงอยู่กับความจริง เพราะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจะจบวันด้วยการเป็นแชมป์ได้หรือไม่ เธออาจจะเล่นดีมาก ๆ แต่พลาดแชมป์ หรืออาจจะเล่นได้งั้น ๆ แต่จบด้วยการเป็นแชมป์ได้ ดังนั้นจงทำในสิ่งที่ตัวเองจะภาคภูมิใจ ทั้งการบริหารจัดการตัวเองและการวางแผนการเล่น
โปรเหมียวบอกว่า คำแนะนำของโค้ชจิตวิทยาคือหัวใจสำคัญ มันทำให้เธอสามารถโฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองควบคุมได้นั่นคือคุณภาพ ส่วนผลลัพธ์นั้นเป็นปัจจัยธรรมชาติที่ไม่มีทางควบคุมได้เลย ดังนั้นทุกอย่างจึงต้องเริ่มต้นที่ตัวเองเสมอ
แม้จะบอกอย่างนั้น แต่เมื่อลงสนามแข่งขันจริงใครจะไม่อยากเป็นแชมป์ ? … แม้โปรเหมียว จะเป็นมือแรงกิ้งต่ำและไม่ได้เป็นตัวเต็งแต่เริ่มการแข่งขัน แต่เธอมีความมั่นใจมากพอที่จะบอกกับโค้ชของเธอว่า “งานนี้หวังถึงแชมป์”
Photo : Golfweek
“ลึก ๆ ในใจเหมียวอยากจะคว้าชัยชนะให้ได้ซักครั้ง ซึ่งก็ได้บอกความคิดนี้กับ แกรนท์ (เวธ) โค้ชถึงเรื่องนี้ แต่มันเหลือเชื่อมาก เพราะไม่ได้คิดเหมือนกันว่าตัวเองจะชนะที่นี่ได้” นี่คือสิ่งที่เธอกล่าวหลังจากคว้าแชมป์รายการสำคัญรายการนี้
หากจะถามว่าอะไรที่ทำให้เธอมาถึงตรงนี้ คงต้องบอกว่าคงเป็นความพร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ และความคิด เด็กสาวจากกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร เริ่มต้นด้วยความฝันที่จะเก่งให้ได้เหมือนกับที่ ไทเกอร์ วูดส์ ทำ … และแน่นอน ถ้าอยากเป็นเหมือน ไทเกอร์ ก็ต้องเป็นแชมป์ให้ได้ และตั้งความหวังให้สูงเข้าไว้ จากนั้นจึงพยายามไปคว้ามันมาอย่างสุดความสามารถ
“นี่คือฝันที่เป็นจริง ทุกครั้งที่มาเล่นที่นี่ฉันมีความฝันมันมาตลอด ตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นมือสมัครเล่น ฉันมาที่สนามแห่งนี้และเห็นหลายคนกระโดดลงสระน้ำ (ธรรมเนียมแชมป์รายการนี้ จะต้องกระโดดลงบ่อน้ำข้างกรีนหลุม 18 ที่ชื่อ ‘Poppie’s Pond’ ซึ่ง เอมี อัลคอตต์ กระโดดเป็นคนแรกเมื่อปี 1988 ก่อนจะเป็นธรรมเนียมที่แชมป์ทุกคนต้องทำตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา)”
Photo : Golfweek
“ฉันเคยถ่ายรูปแชมป์เหล่านั้นลงใน Snapchat และใช้แคปชั่นว่า ‘สักวันหนึ่ง’ … และมันบ้าจริง ๆ ที่วันนั้นมันเดินทางมาถึงแล้ว” โปรเหมียว กล่าวทิ้งท้าย