รู้จัก โควิด “แลมบ์ดา” (Lambda) สายพันธุ์ใหม่ อันตรายแค่ไหน?

Home » รู้จัก โควิด “แลมบ์ดา” (Lambda) สายพันธุ์ใหม่ อันตรายแค่ไหน?
รู้จัก โควิด “แลมบ์ดา” (Lambda) สายพันธุ์ใหม่ อันตรายแค่ไหน?

สำนักข่าว Xinhua รายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศการตรวจพบโควิด-19) ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์ใหม่ “แลมบ์ดา” (Lambda) ใน 29 ประเทศ โดยเฉพาะทวีปอเมริกาใต้

รู้จัก โควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ดา

โควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ดา ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ C.37 พบครั้งแรกในเปรูช่วงปลายปี 2020 โดยทางการเปรูตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ดา สูงถึงร้อยละ 81 นับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังพบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ใน ชิลี อาร์เจนตินา เอกวาดอร์ และประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะทวีปอเมริกาใต้ 

ข้อมูลจากศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี ในเพจ Center for Medical Genomics ระบุว่า จากการถอดรหัสพันธุ์ทั้งจีโนมแล้วนำมาวิเคราะห์ในลักษณะของแผนภูมิวิวัฒนาการชาติพันธุ์ พบว่ามีการกลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ Wuhan ดั้งเดิมมากกว่าสายพันธุ์เบต้า และเอปไซลอน มีแนวโน้มอาจระบาดรุนแรงกว่าเดลตา

โควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ดา อันตรายหรือไม่?

ปัจจุบัน (7 ก.ค. 64) โควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ดา จัดเป็นสายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ (Variant of Interest) เนื่องจากความชุกที่เพิ่มขึ้นในทวีปอเมริกาใต้ มีโอกาสติดต่อแพร่กระจายเร็วกว่าสายพันธุ์เดิม โดยสายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ ซึ่งแตกต่างจากสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern) เป็นสายพันธุ์ที่ต้องได้รับการเฝ้าระวังจากองค์การฯ แต่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อสุขภาพของประชาชน

แม้จะมีรายงานว่าโควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ดามีความรุนแรงของโรคมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม และลดประสิทธิภาพของวัคซีนได้ด้วย แต่จากข้อมูลในปัจจุบัน (7 ก.ค.) โควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ดาลดประสิทธิภาพของวัคซีน mRNA (เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา) ไปเพียง 2-3 เท่า แต่ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนเชื้อตาย (เช่น ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม) และวัคซีน viral vector (เช่น แอสตร้าเซนเนก้า)

นอกจากนี้ยังพบว่า ยาต้านไวรัสที่เป็นแอนติบอดีสังเคราะห์ยังทำงานได้ดี และผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะยังคงสามารถป้องกันไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์แลมบ์ดาได้ และการบำบัดด้วยแอนติบอดีสังเคราะห์จะยังคงมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดยังต้องติดตามอัปเดตกันต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ