รู้จัก "วัคซีนใบยา" ป้องกัน "โควิด-19" ความหวังของคนไทย โดยนักวิจัยไทย

Home » รู้จัก "วัคซีนใบยา" ป้องกัน "โควิด-19" ความหวังของคนไทย โดยนักวิจัยไทย
รู้จัก "วัคซีนใบยา" ป้องกัน "โควิด-19" ความหวังของคนไทย โดยนักวิจัยไทย

ทีมนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะเภสัชศาสตร์ รุดหน้าผลิต “วัคซีนใบยา” วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ใช้ยาสูบเป็นพืชในกระบวนการสร้างวัคซีน ผลิตโดยทีมวิจัยคนไทย เพื่อคนไทย คาดว่าอย่างเร็วที่สุดอาจแล้วเสร็จเริ่มฉีดได้ในต้นปี 2565

รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด (บริษัทสตาร์ทอัพของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะเภสัชศาสตร์) ให้สัมภาษณ์กับ Nation TV ว่า ในขณะนี้ (เดือนพฤษภาคม) อยู่ในระหว่างการจัดหาสถานที่สำหรับปลูกพืช และผลิตวัคซีนอย่างเต็มรูปแบบ น่าจะสำเร็จในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ หลังจากนั้นจะติดต่อทาง อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) เพื่อตรวจสอบสถานที่ผลิต และได้รับการรับรองมาตรฐานให้เรียบร้อย จากนั้นจึงเริ่มผลิตจริงจังในเดือนกรกฎาคม ดำเนินการส่งเอกสารการทดลองกับสัตว์ทั้งหมด ในแง่ของความปลอดภัยต่างๆ และขออนุมัติเพื่อเริ่มการทดสอบกับมนุษย์ และอาจจะเริ่มได้ทดสอบกับมนุษย์ในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้

วัคซีนใบยา ที่ทางทีมแพทย์และทีมนักวิจัยจุฬาฯ พัฒนาอยู่นั้น เป็นการนำตัวไวรัสสายพันธุ์จากอู่ฮั่นเป็นต้นแบบ ซึ่งเป็นวัคซีนในรุ่นแรก แต่ทีมนักวิจัยก็พัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์อื่นๆ ที่กำลังระบาดในขณะนี้เอาไว้ด้วย ซึ่งจะเป็นวัคซีนใบยาในรุ่นที่ 2 และหากผลการทดลองทั้งกับสัตว์และมนุษย์เป็นไปตามที่คาดการณ์ว่าน่าจะได้รับผลการทดลองทั้งหมดภายในปีนี้ คนไทยเราอาจจะมีโอกาสได้เริ่มใช้วัคซีนที่ผลิตโดยทีมนักวิจัยของไทยเราเองในปีหน้า 2565 อย่างแน่นอน 

ขั้นตอนการทำงานของวัคซีนใบยา

ทีมวิจัยใช้รหัสพันธุกรรมของโควิด-19 สายพันธุ์อู่ฮั่น ส่งเข้าไปในต้นไม้ เข้าไปในพืช แล้วให้พืชผลิตโปรตีนชิ้นส่วนของไวรัสออกมา จากนั้นจะใช้ส่วนนี้ในการฉีดเข้าไปในมนุษย์ เพื่อเข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคในร่างกายออกมา

พืชที่ใช้ในกระบวนการผลิตวัคซีน คือพืชชนิดใด?

พืชที่ใช้ในกระบวนการผลิตวัคซีนใบยา เป็นพืชตระกูลใบสูบ แต่เป็นคนละสายพันธุ์กับต้นยาสูบที่ปลูกในไทย โดยเป็นสายพันธุ์ที่นิโคตินต่ำ เป็นพืชที่สามารถส่งถ่ายยีนส์เข้าไปได้ง่าย ใบเยอะ ผลิตโปรตีนได้เยอะ สามารถได้โปรตีนจำนวนที่ต้องการได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

พืชหนึ่งต้น ผลิตวัคซีนได้กี่โดส?

พืชหนึ่งต้น สามารถผลิตวัคซีนได้หลายโดส หากในอนาคตทีมวิจัยได้สถานที่จากทางจุฬาฯ จำนวน 1,000 กว่าไร่ในการปลูกพืชเพื่อผลิตวัคซีน มีการคาดการณ์ไว้ว่าอาจสามารถผลิตได้ราว 1-5 ล้านโดสต่อเดือน

baiya

ข้อดีของวัคซีนใบยา

เมื่อต้นการผลิตมาจากพืช เมื่อเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ในอนาคต ทีมวิจัยสามารถนำรหัสพันธุกรรมของสายพันธุ์นั้นๆ มาผลิตเป็นวัคซีนใช้ได้ทันที เหมาะกับการผลิตวัคซีนที่เชื้อไวรัสมีสายพันธุ์ใหม่ๆ ออกมาตลอด ไม่ต้องเสียเวลานำเข้าวัคซีนเฉพาะบางสายพันธุ์จากต่างประเทศ

นอกจากนี้ ตัววัคซีนมีส่วนประกอบที่เป็นโปรตีน จึงค่อนมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง ในส่วนของประสิทธิภาพจะต้องมีการทดลองในมนุษย์กันต่อไปจึงสามารถวัดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

วัคซีนใบยา ฉีดกี่เข็ม?

วัคซีนใบยา เมื่อผ่านการทดสอบทั้งหมดจนสามารถใช้ได้กับมนุษย์ 100% แล้ว จะมีวิธีการฉีดวัคซีน โดยฉีดเป็นจำนวน 2 เข็ม (2 โดส) เหมือนกับวัคซีนส่วนใหญ่ในขณะนี้

เข็มแรกวัคซีนอื่น เข็มสองเป็นวัคซีนใบยาได้หรือไม่?

ยังอยู่ในระหว่างการทดลองว่าหากมีการฉีดวัคซีนเข็มแรกเป็นวัคซีนตัวอื่น เมื่อทิ้งระยะห่างราว 6 เดือนจนภูมิคุ้มกันเริ่มลดลง จะสามารถฉีดวัคซีนใบยาเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นเข็มที่ 2 แทนได้หรือไม่ มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสได้มากน้อยแค่ไหน แต่มีความเป็นไปได้สูงว่าอาจจะทำได้

ควรรอฉีดวัคซีนใบยาทั้ง 2 เข็มเลยหรือไม่?

รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ แนะนำว่า สำหรับคนทั่วไปควรประเมินความเสี่ยงก่อนว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะติดโควิด-19 รวมถึงถ้าติดแล้วมีความเสี่ยงที่จะมีอาการหนักหรือไม่ หากใช่ ควรฉีดวัคซีนตัวอื่นๆ ที่มีในประเทศไทยในขณะนี้ไปก่อน เพราะอย่างเร็วที่สุดที่วัคซีนใบยาจะผลิตสำเร็จและใช้กับมนุษย์ได้จริงๆ น่าจะเป็นปี 2565 เป็นต้นไป แล้วรอใช้วัคซีนใบยาเป็นวัคซีนที่ใช้กระตุ้นภูมิคุ้มกันเรื่อยๆ หลังจากที่วัคซีนที่เราฉีดในปีนี้เริ่มป้องกันเชื้อไวรัสได้ลดลง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ