“ลิ่มเลือดอุดตันในปอด” ภาวะที่อันตรายถึงชีวิต แต่ชื่อไม่ค่อยคุ้นหู คุณมีความเสี่ยงหรือเปล่า?
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด คืออะไร?
อ. นพ.วิรัช ตั้งสุจริตวิจิตร สาขาวิชาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดมักเกิดจากลิ่มเลือดที่อุดตันบริเวณหลอดเลือดขา ซึ่งเป็นหลอดเลือดที่เชื่อมต่อกับหัวใจข้างขวาและปอด จากนั้นลิ่มเลือดได้มีการหลุดไปอุดตันที่ปอดตามลำดับ
และโดยส่วนมากลิ่มเลือดอุดตันมักเกิดที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งก่อนเข้าสู่ปอด เช่น ปัจจุบันมีการใส่สายเข้าไปในร่างกายเพื่อให้ยาทางหลอดเลือดดำใหญ่ อาจเกิดลิ่มเลือดที่แขนได้ แต่น้อยรายที่ลิ่มเลือดจะเข้าสู่ปอดทันทีโดยไม่พบลิ่มเลือดที่บริเวณอื่น
สาเหตุของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด
- เคยได้รับการผ่าตัด ทำให้ต้องนอนนิ่งเป็นเวลานาน
- ป่วยเป็นมะเร็งบางชนิด
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางประเภท
- โรคทางพันธุกรรม
แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นได้เองโดยไม่มีสาเหตุแน่ชัดเช่นกัน
กลุ่มเสี่ยงภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด
- ผู้ที่สูบบุหรี่ มีผลต่อหลอดเลือดโดยตรง อาจทำให้หลอดเลือดบาดเจ็บ เสี่ยงต่อลิ่มเลือดอุดตันได้
- ผู้ที่ไม่เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานาน
อาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด
เป็นเรื่องอันตรายที่ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการปรากฏให้เห็น ผู้ป่วยจะทราบว่าตัวเองมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดเมื่อมาพบแพทย์ด้วยอาการชัดๆ 2 อย่าง คือ
- เหนื่อย หอบ ระดับความเหนื่อยของผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันออกไปตามความรุนแรงของอาการหรือปริมาณลิ่มเลือดที่อุดตันว่ามากหรือน้อยแค่ไหน และมักมีอาการเหนื่อยมากขึ้นเรื่อยๆ หรือเหนื่อยในช่วงที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำเป็นประจำแต่เหนื่อยมากกว่าปกติ เช่น เดินขึ้นบันไดในบ้าน
- ขาบวม พบได้ในบางราย เกิดจากลิ่มเลือดอุดตันบริเวณหลอดเลือดขา
อันตรายของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด
ผู้ป่วยที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด อาจทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ลดลง และอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนี้
- เหนื่อย หอบ ทำกิจกรรมประจำวันต่างๆ ได้แย่ลง
- หากรักษาไม่ดี อาจทำให้ความดันในหลอดเลือดแดงที่ปอดสูงได้
- ร่างกายบวม หัวใจข้างขวาล้มเหลวเรื้อรัง
- ในรายที่ผนังกั้นหัวใจทำงานผิดปกติหรือรั่ว อาจส่งผลให้ลิ่มเลือดอุดตันข้ามไปยังสมองได้ เนื่องจากหลอดเลือดดำจากปอดมีการเชื่อมต่อไปที่สมองด้วย
- เสียชีวิต กรณีที่วินิจฉัยผิดพลาดและรักษาไม่ถูกกับโรค หรือรักษาลิ่มเลือดอุดตันในปอดไม่ทันเวลา
ผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดบางรายเสียชีวิต เพราะได้รับการรักษาไม่ทันเวลา เนื่องจากผู้ป่วยบางรายมีอาการแต่ไม่ได้พบแพทย์ทันที เช่น บางรายคิดว่าเป็นอาการเหนื่อยตามวัย จึงละเลยที่จะไปพบแพทย์ ทำให้การรักษาล่าช้าออกไป ดังนั้นควรรีบพบแพทย์ทันทีเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น
วิธีรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด
หากเกิดขึ้นฉับพลับ ระดับสัญญาณชีพไม่คงที่ แพทย์จะใช้ยาละลายลิ่มเลือดในการรักษา
หากมีอาการแต่ภาวะยังไม่เข้าขั้นวิกฤต แพทย์จะใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดในการรักษา
วิธีป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด
จริงๆ แล้วภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่มีวิธีป้องกันโรคที่สำคัญอยู่ คือ ลดปัจจัยที่ควบคุมได้ เช่น หากนอนนานให้พยายามเคลื่อนไหวให้มากขึ้น หากหลอดเลือดมีความหนืดควรดื่มน้ำมากๆ เป็นต้น