รู้จัก "มารี อ็องตัวแน็ต" ราชินีฝรั่งเศส ซีนใหญ่ในพิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ถือหัวขาดร้องเพลง

Home » รู้จัก "มารี อ็องตัวแน็ต" ราชินีฝรั่งเศส ซีนใหญ่ในพิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ถือหัวขาดร้องเพลง
รู้จัก "มารี อ็องตัวแน็ต" ราชินีฝรั่งเศส ซีนใหญ่ในพิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ถือหัวขาดร้องเพลง

ย้อนประวัติศาสตร์ “มารี อ็องตัวแน็ต” ราชินีฝรั่งเศส ซีนใหญ่ในพิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ถือหัวขาดร้องเพลง เพราะถูกประหารด้วยกิโยติน

ผ่านไปแล้วอย่างยิ่งใหญ่ สำหรับพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก 2024 ซึ่งการแสดงในชุดแรกมาพร้อมคอนเซปต์ที่ถอดมาจากคำขวัญของประเทศฝรั่งเศส เสรีภาพ เสมอภาค ภารดรภาพ มาพร้อมเสียงเพลงคุ้นเคยอย่าง “Do You Hear The Peaople Sing?” ผสมผสานไปกับวงดนตรีแนวเมทัลสุดเดือด ณ โรงละครชาเตอเลต์ Théâtre du Chatelet ซึ่งสิ่งที่เซอร์ไพรส์คนดูทั่วโลกคือการปรากฏตัวของ มารี อ็องตัวแนต ในชุดสีแดงสด สภาพหัวขาดจากการโดนประหารด้วยกิโยติน ในช่วงการปฏิวัติ ปี 1789 จนโชว์นี้กลายเป็นที่โจษขานในความกล้าเล่นกับประวัติศาสตร์อย่างร้อนแรง

รู้จัก มารี อ็องตัวแนต

มารี อ็องตัวแนต (Marie Antoinette) หรือพระนามเดิมคือ อาร์ชดัชเชสมารีอา อันโทนีอา โยเซฟา โยฮันนา (Maria Antonia Josepha Johanna) เป็นเจ้าหญิงจากออสเตรียที่เข้ามาอภิเษกสมรสกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส ทำให้พระนางขึ้นครองราชย์เป็นพระราชินีแห่งฝรั่งเศส

การอภิเษกสมรสของมารี อ็องตัวแนตและพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เป็นการรวมพลังระหว่างสองราชวงศ์ใหญ่ของยุโรป แต่ก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางวัฒนธรรมและภาษา

พระนางมารี อ็องตัวแนตมีชื่อเสีย(ง) ในเรื่องการใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย ชอบจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ ตั้งแต่ยังไม่ขึ้นเป็นราชินี ซึ่งขัดแย้งกับความยากจนของประชาชนชาวฝรั่งเศสในขณะนั้น พฤติกรรมของพระนางทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนชาวฝรั่งเศสที่กำลังเผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจ พระนางถูกกล่าวหาว่าเป็นคนต่างชาติที่ไม่รักชาติและใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย ความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อพระนางและพระราชวงศ์ฝรั่งเศส ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศส

ขณะเดียวกัน มีการโต้แย้งว่าภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของพระนางเป็นผลมาจากการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายปฏิวัติเพื่อลดทอนความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์ 

คดีสร้อยพระศอบันลือโลก

คดีสร้อยพระศอ (Affair of the Diamond Necklace) เป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์และชะตากรรมของ มารี อ็องตัวแนต ราชินีแห่งฝรั่งเศสอย่างมาก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส และถูกนำมาใช้เป็นข้อกล่าวหาสำคัญเพื่อโจมตีพระนาง

ในช่วงทศวรรษที่ 1780 ได้มีการสร้างสร้อยคอเพชรอันงดงามและมีค่ามากเส้นหนึ่งขึ้นมา โดยช่างทำเครื่องประดับชาวฝรั่งเศส สร้อยคอเส้นนี้ถูกนำเสนอขายให้กับพระราชินีมารี อ็องตัวแนต แต่พระนางปฏิเสธที่จะซื้อ โดยมีหญิงสาวคนหนึ่งชื่อ มาดาม เดอ ลามอตต์ ซึ่งหลงใหลในชีวิตอันหรูหราฟุ่มเฟือย ได้วางแผนที่จะหลอกลวงให้ พระคาร์ดินัล เดอ โรออง เชื่อว่าพระราชินีต้องการซื้อสร้อยคอเส้นนี้ โดยเธอแอบอ้างว่าเป็นตัวแทนของพระราชินี และโน้มน้าวให้พระคาร์ดินัลซื้อสร้อยคอให้พระราชินี

เมื่อเรื่องราวถูกเปิดโปงออกมาว่าพระราชินีไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อสร้อยคอเส้นนี้ แต่ภาพลักษณ์ที่เสียหายไปแล้วนั้นยากที่จะกอบกู้คืนมาได้ หลายคนเชื่อว่าคดีสร้อยพระศอเป็นเพียงการใส่ร้ายป้ายสีพระนางเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการโค่นล้มระบอบกษัตริย์

ประโยค “Let them eat cake”

ในภาษาฝรั่งเศสดั้งเดิมคือ “Qu’ils mangent de la brioche” เป็นประโยคที่มักถูกนำมาเชื่อมโยงกับ มารี อ็องตัวแนต ราชินีแห่งฝรั่งเศส โดยมีความหมายโดยนัยว่าพระนางแสดงออกถึงความไม่ใส่ใจความยากลำบากของประชาชนที่กำลังเผชิญกับความอดอยากข้าวยากหมากแพง ประมาณว่า ถ้าไม่มีขนมปัง ก็กินเค้กสิ

แต่ความจริงแล้ว ประโยคนี้ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามารี อ็องตัวแนต เป็นผู้กล่าว และนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าประโยคนี้เป็นเพียงการสร้างเรื่องขึ้นมาเพื่อโจมตีพระนางและราชวงศ์ฝรั่งเศสในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส

ที่มาที่แท้จริงของประโยคนี้คือ ฌ็อง-ฌักส์ รุสโซ ได้กล่าวถึงประโยคคล้ายคลึงกันนี้ในหนังสือ “คำสารภาพ” (Confessions) ของเขา โดยเล่าถึงเรื่องราวของเจ้าหญิงผู้หนึ่งที่ไม่สนใจความยากลำบากของประชาชนและแนะนำให้พวกเขากินขนมปังบรีย็อช (brioche) แทนขนมปัง 

ประหารด้วยกิโยติน

การปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1789 ถึง ค.ศ. 1799 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเมือง สังคม และความคิดของมนุษย์ทั่วโลกอย่างกว้างขวาง การปฏิวัติครั้งนี้ได้โค่นล้มระบอบกษัตริย์อันเป็นที่ยั่งยืนของฝรั่งเศส และนำไปสู่การก่อตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศส

พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกประหารด้วยเครื่องกิโยติน เมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1793 เหตุการณ์นี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการปฏิวัติฝรั่งเศส หลังจากนั้นในวันที่ 27 มีนาคม “มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์” ได้เรียกร้องกับคณะปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก ว่าให้จัดการกับราชินีอีกพระองค์ด้วย ในระหว่างการไต่สวน มีข้อมูลหลายแห่งบันทึกไว้มากมาย แต่ส่วนมากหลัก ๆ คือ ข้อหากบฏ แน่นอนว่าพระนางให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

มารี อ็องตัวแนต ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยติน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1793 ณ กรุงปารีส การประหารชีวิตของพระนางด้วยกิโยตินเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงการสิ้นสุดของระบอบกษัตริย์และการเริ่มต้นยุคใหม่ของฝรั่งเศส

ในปัจจุบัน ภาพลักษณ์ของพระนางมารี อ็องตัวแนต ถูกนำไปใช้ในสื่อต่างๆ เช่น ภาพยนตร์และแฟชั่น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความหรูหราและความงาม แม้ว่าพระนางจะเป็นที่รู้จักในฐานะราชินีที่ฟุ่มเฟือย แต่ก็เป็นแฟชั่นไอคอนที่ทรงอิทธิพลอย่างมาก สไตล์การแต่งกายของพระนางยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักออกแบบและผู้คนทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าไม่เคยตายไปจากวงการแฟชั่น และเรื่องราวประวัติศาสตร์ของพระนางยังคงเป็นที่สนใจและถกเถียงกันมาจนถึงปัจจุบัน ว่าแท้จริงแล้ว พระนางเลวร้ายจริงหรือถูกใส่ร้ายเพื่อผลทางการเมืองกันแน่?

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ