รู้จัก "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน" อันตรายที่ไร้สัญญาณเตือน

Home » รู้จัก "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน" อันตรายที่ไร้สัญญาณเตือน
รู้จัก "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน" อันตรายที่ไร้สัญญาณเตือน

“ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน” เกิดขึ้นได้ทุกเวลาโดยไม่มีสัญญาณเตือน และเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรักษาทันที หากปล่อยไว้นานโอกาสรอดชีวิตจะลดลง โดยสามารถพบได้ทุกช่วงอายุและสามารถเกิดขึ้นได้ทุกสถานที่และทุกช่วงเวลา

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คืออะไร

นพ.ศาสตรา จารุรัตนานนท์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ระบุว่า ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจทำงานผิดปกติ จนไม่มีการบีบตัวหรือหยุดเต้นทันที โดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า เมื่อเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนี้ จะไม่มีการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้การทำงานของอวัยวะผิดปกติ ซึ่งอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการทำงานของสมอง เมื่อไม่มีเลือดมาเลี้ยงจะทำให้หมดสติ การช่วยเหลือจึงจำเป็นต้องทำอย่างทันท่วงที ซึ่งแตกต่างจากภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart attack)

สาเหตุภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากความผิดปกติของหัวใจโดยกำเนิด หรือสาเหตุภายนอกที่ทำให้หัวใจหยุดเต้นก็ได้ สำหรับผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันที่พบบ่อยได้แก่ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ ฯลฯ ส่วนผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 35 ปีส่วนใหญ่เกิดจาก โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาชนิดไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งภาวะนี้การออกกำลังกายเป็นตัวกระตุ้นให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ นอกจากนี้ก็ยังอาจเกิดจากภาวะเส้นเลือดหัวใจขาดเลือดในคนอายุน้อยหรือภาวะเส้นเลือดหัวใจผิดปกติโดยกำเนิด

อาการเตือนภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (แต่มักไม่ได้สังเกต)

  • เหนื่อยง่าย
  • อ่อนเพลีย
  • แน่นหน้าอกเวลาที่มีภาวะเครียดหรือเวลาออกแรง 

ประเมินความเสี่ยงภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ด้วยการทดสอบ

มีการตรวจหลายชนิดที่อาจจะประเมินความเสี่ยงได้

  • การตรวจเลือด เช่น ระดับน้ำตาล, ไขมัน
  • คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram)
  • คลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram)
  • การติดตามการเต้นหัวใจ (Holter Monitoring)

ทั้งนี้พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ดีจะสามารถลดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน รวมทั้งโรคหัวใจได้ เริ่มตั้งแต่การกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ดูแลรักษาโรคประจำตัว โดยเฉพาะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง สุดท้ายควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ