มีรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เชิญว่าที่ ผบ.เหล่าทัพคนใหม่ อาทิ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี รอง ผบ.ทสส. ในฐานะว่าที่ ผบ.ทสส. / พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รอง ผบ.ทบ. ในฐานะว่าที่ ผบ.ทบ. / พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ (ผบ.กร.) ในฐานะว่าที่ ผบ.ทร. และ พล.อ.อ.พันธ์ภักดิ์ พัฒนกุล ผู้ช่วย ผบ.ทอ. ในฐานะว่าที่ ผบ.ทอ. มาร่วมรับประทานอาหารกลางวันในวันนี้ เพื่อแนะนำตัวและทำความรู้จัก กระชับความสัมพันธ์
นอกจากนี้ คาดว่า นายกฯ จะชี้แจงเหตุผลที่เลือก นายสุทิน มาทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขณะเดียวกัน ตามรายงานการนัดหารือ จะเน้นการรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะกับทางกองทัพบกให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือการขับเคลื่อนงานของรัฐบาล และกองทัพ โดยเฉพาะสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมือง ก่อนนำมาบรรจุไว้ในนโยบาย ร่วมกับนโยบายของ 11 พรรคการเมือง และตามหมุดหมายรัฐบาลจะแถลงนโยบายในวันที่ 11 กันยายนนี้
สำหรับสถานที่นัดทานอาหาร คือโรงแรมแห่งหนึ่งใน กทม. และไม่ได้มีการแจ้งต่อสื่อมวลชน เนื่องจาก นายกฯอยากจะทานข้าวกับว่าที่ผบ.เหล่าทัพ เป็นการส่วนตัว และพูดคุยอย่างเป็นกันเอง ไม่อยากให้เอิกเกริก ไม่อยากให้มีสื่อมวลชนมาทำข่าว
โดยเมื่อวันที่(30 ส.ค.66) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้นายทหารรับราชการประจำปี 2566 ตามที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม จำนวน 762 รายชื่อ โดยจะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 ต.ค. นี้ โดยมีรายชื่อสำคัญๆ ดังนี้
กองบัญชาการกองทัพไทย
พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- พล.อ.อนุสรณ์ คุ้มอักษร เป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- พล.อ.โดมศักดิ์ คำใสแสง เป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- พล.ร.อ.ปกครอง มนธาตุผลิน เป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา เป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ประวัติ บิ๊กอ๊อบ-พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี
พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี เข้าเรียนโรงเรียนเตรียม ทหารรุ่นที่ 24 แต่เรียนได้ไม่ถึงเดือน จึงไปไปสอบเข้าโรงเรียนทหารบกที่เวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา หรือนายร้อย VMI (Virginia Military Institute) ทำให้ไม่ได้จบโรงเรียนนายร้อย จปร.
เคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรม ร.11 รอ. และก่อนเป็น ผบ.พล.1 รอ. คุมกำลังรบกองทัพภาคที่ 1 จากนั้นจึงขึ้นรองแม่ทัพภาคที่ 1 รองเสนาธิการทหารบก หัวหน้าคณะนายทหารฝ่าย เสธ.ประจำ ผบ.ทบ. ก่อนจะย้ายไปกองบัญชาการกองทัพไทย เป็น รอง ผบ.ทสส. และขึ้นเป็น “ผบ.ทสส.”
เคยลงพื้นที่ไปปฏิบัติราชการสนามในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในตำแหน่งผู้บังคับกองพัน ผบ.ร.11 พัน 3 รอ. และเป็น ผบ.ฉก.เพชราวุธ
นอกจากนี้ พล.อ.ทรงวิทย์ ยังมีความโดดเด่นด้านภาษา การทหาร งานวิชาการอีกด้วย ทั้งนี้ก่อนจะขึ้นเป็นผบ.พล.1 รอ. คุมกำลังรบกองทัพภาคที่ 1 และเป็นทหารคอแดง ใน ฉก.ทอ.รอ.904 แม้ไม่ได้เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 แต่ก็ติดยศพลโท ในตำแหน่งรอง เสธ.ทบ. และหัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสธ.ประจำ ผบ.ทบ. ตำแหน่งสุดท้าย ก่อนถูกโยกมาเป็น รอง ผบ.ทสส. และเป็น ผบ.ทสส.ในที่สุด
กองทัพบก
พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก
- พล.อ.สุขสันต์ หนองบัวล่าง เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก
- พล.อ.กิตติศักดิ์ บุญพระธรรมชัย เป็นประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก
- พล.อ.อุกฤษ บุญตานนท์ เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
- พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
- พล.ท.พนา แคล้วปลอดทุกข์ เป็นเสนาธิการทหารบก
- พล.ท.ชิษณุพงศ์ รอดศิริ เป็นแม่ทัพภาคที่ 1
- พล.ท.อดุลย์ บุญธรรมเจริญ เป็นแม่ทัพภาคที่ 2
- พล.ต.ประสาน แสงศิริรักษ์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 3
ประวัติ บิ๊กต่อ-พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์
พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ เกิดที่ จ.ลพบุรี บิดาเป็นทหารปืนใหญ่อยู่ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ สำเร็จการศึกษา โรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 23 (ตท.23) โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 34 (จปร.34) โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่น 74
พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ถือเป็นนายทหารที่เติบโตมาจากกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) ที่เดียวกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก คนที่ 43 ต่อจาก พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก คนที่ 42 ที่จะเกษียญอายุราชการในปลายเดือนกันยายนนี้
พล.อ.เจริญชัย เคยรับราชการเป็นผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ , ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์, รองแม่ทัพภาคที่ 1 , แม่ทัพน้อยที่ 1 ,แม่ทัพภาคที่ 1, ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก , รองผู้บัญชาการทหารบก และเป็นผู้บัญชาการทหารบก
กองทัพเรือ
พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ
- พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ
- พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข เป็นรองผู้บัญชาการทหารเรือ
- พล.ร.อ.โกวิท อินทร์พรหม เป็นประธานคณะที่ปรึกษากองทัพเรือ
- พล.ร.อ.ชลทิศ นาวานุเคราะห์ เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ
- พล.ร.อ.วรวุฒิ พฤกษารุ่งเรือง เป็นเสนาธิการทหารเรือ
- พล.ร.ท.ชาติชาย ทองสะอาด เป็นผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ
ประวัติบิ๊กดุง-พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม
พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม เป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 23 และโรงเรียนนายเรือรุ่นที่ 80 ผ่านการอบรมหลักสูตร หลักสูตรนายทหารชั้นต้น พรรคนาวิน หลักสูตรเสนาธิการทหารเรือ รุ่นที่ 56 หลักสูตรเสนาธิการทหารเรือ ประเทศออสเตรเลีย,หลักสูตรวิทยาลัยการทัพเรือ รุ่นที่ 40 และหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 62
เคยเป็นผู้บังคับการเรือหลวงปิ่นเกล้า, ผู้ช่วยทูตทหารเรือ ไทย/แคนเบอร์รา ออสเตรเลีย, ฝ่ายเสนาธิการ ประจำผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการโรงเรียนชุมพลทหารเรือ,รองเลขานุการกองทัพเรือ ,รองผู้อำนวยการ สำนักกิจการความมั่นคง กรมยุทธการทหารเรือ, รองผู้บัญชาการ ฐานทัพเรือกรุงเทพ
หัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำเสนาธิการทหารเรือ, ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กรมยุทธการทหารเรือ ,ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ทหารเรือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือผู้อำนวยการ , สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ ,เจ้ากรมการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศทหารเรือ , และอยู่ในตำแหน่งผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ (ต.ค.2565)
กองทัพอากาศ
พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ
- พล.อ.อ.ณรงค์ อินทชาติ เป็นรองผู้บัญชาการทหารอากาศ
- พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์ จันทสาร เป็นประธานคณะที่ปรึกษากองทัพอากาศ
- พล.อ.อ.วิศรุต สุวรรณเนตร เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ
- พล.อ.อ.อนันตชัย แก้วศรีงาม เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ
- พล.อ.ท.เสกสรรค์ คันธา เป็น เสนาธิการทหารอากาศ
ประวัติ บิ๊กไก่-พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล
พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล เกิดที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 24 จากนั้น เข้าสู่โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช รุ่นที่ 31 เคยเป็นนักบินขับไล่หลายแบบ อาทิ F-5E/F Tiger shark, F-16A/B Fighting Falcon และJAS-39C Gripen นอกจากนี้ ยังเคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองบิน 7 (Gripen) สุราษฎร์ธานี เคยเป็นผู้ช่วยทูตไทยประจำกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร, รองเจ้ากรมยุทธการทหารอากาศ, เจ้ากรมข่าวทหารอากาศ
ในปี พ.ศ. 2563 ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมข่าวทหารอากาศ ในปี พ.ศ. 2564 เป็นเสนาธิการทหารอากาศ ในปีต่อมาเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านยุทธการ และเคยมีส่วนในการประสานโครงการจัดหาเครื่องขับไล่ F-35 กระทั่ง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ