ทำความรู้จัก “ปลาวัวไททัน” หรือ ปลาวัวอำมหิต ดุร้าย เกรี้ยวกราด ดุดันไม่เกรงใจใคร แต่สำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเล
“ปลาวัวไททัน” (Titan triggerfish) Balistoides viridescens หรือ ปลาวัวอำมหิต หรือ ปลาวัวหน้าลาย เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาวัว (Balistidae)
- รูปร่างลักษณะ “ปลาวัวไททัน”
มีรูปร่างที่บึกบึนกว่าปลาวัวชนิดอื่น ปากมีขนาดใหญ่มีเขี้ยวสั้นคมอยู่ภายใน ครีบหางปลายตัดมน ข้างแก้มมีสีน้ำตาลส้ม มีปื้นสีคล้ำคาดบริเวณหน้า ปากมีคาดสีดำสลับขาว ด้านหลังสีน้ำตาลอ่อน ข้างลำตัวมีสีคล้ำลายสีน้ำตาลเข้ม ครีบสีส้มมีขอบสีคล้ำ ครีบหางสีส้มขอบสีดำ
มีความยาวเต็มที่ประมาณ 40 เซนติเมตร พบยาวที่สุดได้ถึง 75 เซนติเมตร นับเป็นปลาวัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่ง และเป็นปลาวัวที่มีอุปนิสัยดุร้ายก้าวร้าวมาก
- แหล่งที่อยู่อาศัย “ปลาวัวไททัน”
พบได้ทั่วไปในแนวปะการังในมหาสมุทรเขตร้อนและเขตอบอุ่น ของอินโด-แปซิฟิก สำหรับในน่านน้ำไทยเป็นปลาที่พบได้บ่อยและพบได้ทั้ง 2 ฝั่ง คือ ฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย
มักอาศัยอยู่บริเวณขอบแนวปะการังและกองหินใต้น้ำ และจะทำรังตามพื้นทรายใกล้กับแนวปะการังหรือกองหินใต้น้ำ ลักษณะของรังจะทำเป็นหลุมคล้ายๆ กับแอ่งกระทะ (ลักษณะเหมือนหลุมปลานิล)
- แหล่งอาหาร “ปลาวัวไททัน”
‘ปลาวัวไททัน’ กินสัตว์น้ำหน้าดิน และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กเป็นอาหาร
- พฤติกรรม “ปลาวัวไททัน”
‘ปลาวัวไท’ เป็นปลาที่มีนิสัยหวงถิ่น และจะมีนิสัยก้าวร้าวเมื่อเข้าใกล้บริเวณที่เป็นอาณาเขตของมัน โดยเฉพาะเมื่อถึงช่วงการวางไข่ ซึ่งจะวางไข่ไว้บนพื้นทราย
โดยในช่วงนี้ปลาวัวจะคอยเฝ้าระวังรัง คอยพ่นน้ำบริเวณรังที่มีไข่ถูกทรายกลบทับ และป้องกันการบุกรุกจากปลาหรือสัตว์อื่นๆ ที่จะเข้ามากินไข่ จึงทำให้ช่วงเวลานี้ปลาวัวจึงมีพฤติกรรมหวงอาณาเขตและก้าวร้าว
- ประโยชน์ของ “ปลาวัวไททัน” ต่อระบบนิเวศ
เนื่องจากเป็นปลาที่กินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง รวมถึงตัวอ่อนของเม่นทะเลและตัวอ่อนของดาวมงกุฎหนามซึ่งเป็นผู้ล่าของปะการัง ปลาวัวไททันจึงมีประโยชน์ในแง่ของการควบคุมสัตว์ในกลุ่มนี้ให้อยู่ในภาวะสมดุล
นอกจากนี้ยังรวมถึงการควบคุมสัตว์จำพวกหอย และหนอนท่อที่เจาะตามก้อนปะการัง ที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยคุกคามสุขภาพปะการังได้อีกด้วย ดังนั้นหากระบบนิเวศแนวปะการังขาดปลาวัวไททัน อาจทำให้มีศัตรูคุกคามปะการังมากขึ้นจนขาดภาวะสมดุลนั่นเอง
ที่มา : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ขอบคุณภาพจาก : Black Turtle Dive